Finance

เตรียมพร้อม!! 6 วิธีลดหย่อนภาษีง่าย ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องรู้

เตรียมพร้อม!! 6 วิธีลดหย่อนภาษีง่าย ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องรู้ เพียงทำตามขั้นตอน รับรอง ครบ จบ ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีสิ้นปีอีกต่อไป

เข้าสู่ช่วงสิ้นปีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนกังวล โดยเฉพาะเหล่าคนทำงาน คือเตรียมตัวคำนวณ “ลดหย่อนภาษี” เพื่อไว้ใช้ยื่นภาษีจริงในปีหน้า ในบทความนี้เราได้รวบรวม 6 วิธีลดหย่อนภาษีสิ้นปีง่าย ๆ เพียงทำตามขั้นตอนนี้ รับรองว่าไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีสิ้นปีอีกต่อไป

ลดหย่อนภาษี

6 วิธีลดหย่อนภาษีสิ้นปีง่าย ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้

1. ลดหย่อนภาษีส่วนตัว

สำหรับการลดหย่อนภาษีส่วนตัว กรมสรรพากรได้กำหนดให้ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

2. ลดหย่อนภาษีครอบครัว

การลดหย่อนภาษีของครอบครัวนั้น แต่ละครอบครัวสามารถนำค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ นอกจากนั้นยังมีในกรณีที่เรามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตร หรือการตั้งครรภ์ ก็สามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนได้เช่นกัน

  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) หากทั้งสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะให้สิทธิลดหย่อนนี้แก่ภรรยาเท่านั้น โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    – กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
    – กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
    – กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

ลดหย่อนภาษี

3. ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน

ในกรณีที่คุณจ่ายเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมา สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายตลอดทั้งปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป ที่ทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น

  • เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • เบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถรวมประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

4. ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน

การลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนอีกหนึ่งวิธีลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยเราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF: Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในธุรกิจ Social Enterprise ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยธุรกิจนั้นต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร และต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ

ลดหย่อนภาษี

5. ลดหย่อนภาษีด้วยกลุ่มเงินบริจาค

การลดหย่อนภาษีด้วยกลุ่มเงินบริจาค หากเรามีการบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ สามารใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่การลดหย่อนผ่านเงินบริจาค ต้องมีการอัปเดตเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่เสมอ เพราะอาจมีทั้งองค์กรที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการรับบริจาคที่ปรับปรุงใหม่

  • เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า หากคุณบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ สามารใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาครจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยงาน หรือโรงพยาบาลที่เข้าเงื่อนไขได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร
  • บริจาคลดหย่อนภาษีทั่วไป สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหัก
  • บริจาคพรรคการเมือง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

6. ลดหย่อนภาษีโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

รายจ่ายกลุ่มสุดท้ายที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้ก็คือ การใช้จ่ายที่อยู่ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือโครงการช้อปดีมีคืน โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี

  • โครงการช้อปดีมีคืน 2566 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่จ่ายจริง โดย 30,000 บาทแรกเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

ขอบคุณ : ธนาคารอาคารสงเคราะห์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK