Finance

รู้หรือไม่?? บริจาคเงินอย่างไร ให้ได้บุญ ได้ลดหย่อนภาษีด้วย

การบริจาคไม่เพียงได้บุญ แต่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ต้องทำอย่างไร “กูรูการเงิน” มีคำตอบ

การทำบุญเป็นวัฒนธรรมคู่กับชาวไทยมาช้านาน หลายครั้งที่วางแผนการเงินให้ผู้เกษียณ แม้รายได้จะไม่พอใช้ แต่หลายท่านก็ยังทำบุญ บริจาคเงินช่วยการกุศลต่าง ๆ ไม่ว่าจะบริจาควัด มูลนิธิ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่อแบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม

ลดหย่อนภาษี

การบริจาคไม่เพียงได้บุญ แต่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย โดยเงินบริจาคที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มี 2 แบบ คือ

1. แบบได้สิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับเงินบริจาคแบบ จ่าย 1 ได้ 2

หรือพูดง่าย ๆ คือ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค เช่น บริจาค 100 บาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 200 บาท เงินบริจาคแบบนี้ได้แก่ เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา ได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว โดยการบริจาคแบบจ่าย 1 ได้ 2 มีดังนี้

เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา ต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สำหรับค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

ลดหย่อนภาษี

  • จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
  • จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
  • จัดหาครูอาจารย์ หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา

เงินบริจาคสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ ต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ และรวมถึงดังต่อไปนี้

  • สถานพยาบาลของสถานศึกษาของรัฐ
  • สถานพยาบาลขององค์การมหาชน
  • สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ
  • สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย
  • สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ

ลดหย่อนภาษี

เงินบริจาคพิเศษอื่น ๆ

  • เงินบริจาคสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
  • เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬาให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่าง ๆ
  • เงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
  • เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
  • เงินบริจาคให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • เงินบริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • เงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม

การบริจาคเพื่อให้ได้สิทธิจ่าย 1 ได้ 2 นอกจากบริจาคถูกที่แล้ว ยังต้องบริจาคถูกวิธีด้วย คือ จะต้องบริจาคเป็นเงิน และต้องผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะลดหย่อนได้แค่เท่าเดียว และถ้าบริจาคเป็นสิ่งของ จะลดหย่อนภาษีไม่ได้เลย

ลดหย่อนภาษี

2. แบบได้สิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับเงินบริจาคแบบ จ่าย 1 ได้ 1

หรือพูดง่าย ๆ คือ บริจาคเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น เช่น บริจาคให้กับวัด มูลนิธิ หรือสถานศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คือ จะมีสิทธิหักลดหย่อนบริจาคได้เท่าจำนวนที่บริจาคเท่านั้น และได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่น ๆ และค่าลดหย่อนเงินบริจาคแบบจ่าย 1 ได้ 2 แล้ว

ดังนั้น หากต้องการได้บุญ และได้ลดหย่อนภาษีเยอะ ๆ แล้ว ควรบริจาคแบบจ่าย 1 ได้ 2 มากๆ และไม่ต้องกลัวว่าจะบริจาคมากไป ตัวอย่างเช่น หากเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่น ๆ ของเราเท่ากับ 1 ล้านบาท เราสามารถบริจาคโรงเรียนเพื่อจ่าย 1 ได้ 2 เต็มที่ 50,000 บาท เพราะตามกฎหมาย คือ เมื่อคูณสองแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่น ๆ (10%*1 ล้านบาท = 1 แสนบาท)

แต่หากเราบริจาคมากไป เช่น แทนที่จะบริจาค 50,000 บาท กลับบริจาค 120,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียใจครับ ใบเสร็จบริจาคยังมีค่าอยู่ สิทธิในการลดหย่อน 70,000 บาทที่เหลืออยู่ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีแบบจ่าย 1 ได้ 1 อยู่ครับ เท่ากับใบเสร็จเงินบริจาคโรงเรียน 120,000 บาทของเรา สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 100,000 + 70,000 = 170,000 บาท

บริจาคดีอย่างนี้ ต่อไปเวลาบริจาคไม่ว่าให้ใคร หรือที่ไหน ก็เลือกบริจาคผ่านระบบ e-Donation ไว้ก่อนนะ เพราะไม่แน่ว่าสรรพากรอาจปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีให้เป็นพิเศษ (เหมือนที่เคยให้มา) เราจะได้สิทธิประโยชน์จากการบริจาคได้เต็มที่

ขอบคุณ สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK