Finance

เพิ่มอัตรา ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เต็มเพดาน ควบคู่กฎหมายผังเมือง ดัดหลังแลนด์ลอร์ด-เพิ่มรายได้ให้ กทม.

เพิ่มอัตรา ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เต็มเพดาน ควบคู่กฎหมายผังเมือง ดัดหลังแลนด์ลอร์ด-เพิ่มรายได้ให้ กทม.

หลังจากที่มีการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแบ่งเบาภาระภาษีให้กับคนไทยมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 โดยในปี 2565 นี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกคน จะต้องทำการชำระภาษีแบบเต็มจำนวนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งปัจจุบัน กทม.จัดเก็บรายได้จากภาษีส่วนนี้ ซึ่งเป็นปีแรกของเก็บอัตรา 100% จากเดิมที่มีการลดหย่อนเพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2563 โดยกทม.สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า ราว 14,000 ล้านบาท

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เลี่ยงภาษีที่ดินว่างเปล่า สู่ที่ดินเกษตรกรรม

ทั้งนี้ การเก็บภาษีจะมีการแบ่งประเภทการใช้ที่ดิน และเก็บตามมูลค่าที่ดิน โดยกำหนดอัตราภาษีแนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครใช้ในการจัดเก็บ เช่น กรณีที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่า 0-75 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.01% คิดเป็นล้านละ 100 บาท , มากกว่า 75-100 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.03% คิดเป็นล้านละ 300 บาท , 100-500 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.05% คิดเป็นล้านละ 500 บาท , 500-1,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.07% คิดเป็นล้านละ 700 บาท

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ในขณะที่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า กรณีมูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% คิดเป็นล้านละ 3,000 บาท , 50-200 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.4% คิดเป็นล้านละ 4,000 บาท , 200-1,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.5% คิดเป็นล้านละ 5,000 บาท , 1,000-5,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.6% คิดเป็นล้านละ 6,000 บาท เป็นต้น

ซึ่งภาษีของประเภทการใช้ที่ดินของทั้งสองส่วนนี้มีความแตกต่างกันกันมาก ส่งผลให้บรรดา แลนด์ลอร์ด เจ้าส้วต่างๆ ที่ซื้อที่ดินเป้าหมายนำมาพัฒนาในอนาคต อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย นำที่ดินที่รกร้างรอการพัฒนา มาปลูกกล้วย ปลูกมะม่วง ปลูกมะนาว แปลงเป็นที่ดินเกษตรกรรม หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีประเภทที่ดินว่าง และหันมาเสียภาษีประเภทที่ดินเพื่อการเกษตรกรแทน ซึ่งมีอัตราต่ำกว่ามาก

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เสนอเพิ่มการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน 15 เท่า

กทม.ได้เล็งเห็นปัญหานี้ นายชัชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ทำหนังสือหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอจัดเก็บภาษีตามกฎหมายสูงสุด ซึ่งกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 0.15% ซึ่งสูงกว่าที่จัดเก็บในปัจจุบันถึง 15 เท่า

ซึ่งเรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่กทม.จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เต็มเพดาน เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ที่สามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหารือกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีข้อยกเว้น ซึ่งจะแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่หากจะเพิ่มอัตราภาษีให้สูงกว่าอัตราแนะนำ จะต้องเสนอให้คณะกรรมการตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้อนุมัติ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ใช้กฎหมายผังเมือง ควบคู่กฎหมายภาษีที่ดิน

นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวคิดการนำกฎหมายผังเมือง หรือการกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง มาใช้ควบคู่กับกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อจัดการกับกลุ่มที่เลี่ยงภาษีนำที่ดินว่างมาปลูกกล้วยเป็นให้เป็นที่ดินเกษตรกรรม แต่ไม่ได้อยู่ในโซนนิ่งเกษตรกรรมตามกฎหมายผังเมือง

ซึ่งขณะนี้ สำนักการคลัง กทม. ได้เตรียมยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มอัตราภาษีที่ดินประเภทเกษตรกรรมให้มีการจัดเก็บสูงสุดตามเพดานภาษี อยู่ที่ 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท ในกรณีมีการนำที่ดินเปล่าในโซนผังเมืองที่ไม่ใช่ผังเมืองสีเขียวแต่นำมาใช้ประโยชน์ประกอบการเกษตร

ซึ่งผังเมืองรวม กทม. แบ่งที่ดินออกเป็นโซนต่างๆ 10 โซน ประกอบด้วย โซนสีเหลือง เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย , โซนสีส้ม ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง , โซนสีน้ำตาล เป็นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก , โซนสีแดง ประเภทพาณิชยกรรม , โซนสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม , โซนสีม่วงเม็ดมะปราง ที่ดินประเภทคลังสินค้า

โซนสีขาวทแยงเขียว ที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม , โซนสีเขียว ที่ดินชนบทและเกษตรกรรม , โซนสีน้ำตาลอ่อน ที่ดินอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และ โซนสีน้ำเงิน ประเภทสถานที่ราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ดัดหลังแลนด์ลอร์ด กทม.มีรายได้เพิ่มจากภาษี

ทั้งนี้ หลักจัดเก็บภาษี กฎหมายได้ให้อำนาจของแต่ละท้องถิ่นในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งหากพบว่าเจ้าของที่ดินที่เคยปล่อยให้รกร้างแต่มีการนำปลูกพืชเกษตรเพื่อต้องการเลี่ยงภาษี ท้องถิ่นก็สามารถใช้ดุลพินิจในการเข้าไปจัดเก็บภาษีได้ เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และหากข้อบัญญัตติของกทม.ในการเพิ่มอัตราภาษี รวมไปถึงการนำการควบคุมการใช้ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองมาใช้ นอกจากจะดัดหลังแลนด์ลอร์ด ซึ่งมีที่ดินราคาสูงใจกลางกรุงเทพแล้ว

กทม.จะมีรายได้จากการเก็บภาษีในส่วนนี้ เพิ่มขึ้นอีกอีกไม่น้อยเลยทีเดียว!!

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo