Finance

คุมเข้ม ‘การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ออก 6 มาตรการป้องกันทุจริต มีระบบแจ้งเบาะแส พร้อมสินบนนำจับ

คุมเข้ม ‘การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ออก 6 มาตรการป้องกันทุจริต มีระบบแจ้งเบาะแส พร้อมสินบนนำจับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (6 ธันวาคม 2565)  คณะรัฐมนตรี รับทราบการดำเนินงานของ กระทรวงการคลัง ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และกรมสรรพากร

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรการเพื่อป้องกันทุจริต ในการคืนภาษี

รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวม ต่อมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เสนอโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คกก. ป.ป.ช.)   สรุปได้ ดังนี้

  1. การเชื่อมโยงข้อมูลและระบบแจ้งเบาะแส (1) การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี หน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก และหน่วยงานด้านการจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นนิติบุคคล (2) มีระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพและมีสินบน นำจับในกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเกี่ยวกับภาษี
  2. กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องจัดทำใบกำกับภาษี อิเล็กทรอนิกส์และรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพิ่มกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล สอบยันในหน่วยจัดเก็บภาษี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีอธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน
  4. ในกรณีข้อมูลการส่งออกไม่เพียงพอต่อการพิจารณาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรส่งเรื่องให้กรมศุลกากรตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนจึงจะนำมาใช้ อ้างอิง รวมถึงตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านภาษีหรือการจดทะเบียนเป็น นิติบุคคลของต่างประเทศว่าผู้นำเข้ามีการประกอบการจริงหรือไม่
  5. เพิ่มกลไกการตรวจสอบเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่มีอยู่เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ส่งออกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตในการขอคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจสอบเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ ที่แท้จริงเพื่อให้สามารถป้องกันและทราบถึงกรณีตัวแทนการจดทะเบียนบังหน้า

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

แจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร

ทั้งนี้  ประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบแจ้งเบาะแสนั้น  กรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ในการบูรณาการขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยรวมขั้นตอนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลพร้อมการยื่นคำขอต่างๆ เพื่อเป็นการปฎิบัติตามประมวลรัษฎากร

ได้แก่ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการลงทะเบียนขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับแบบคำขอใช้บริการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ไปพร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วย

นอกจากนี้  กรมสรรพากรมีช่องทางในการแจ้งเรื่องการบริการ แจ้งเบาะแสเรื่องการทุจริตและข้อเสนอแนะ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร rd.go.th

กรมสรรพากรยังมีการออกระเบียบ ว่าด้วยการจัดทำส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็คทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งพัฒนาระบบให้บริการ จัดทำและนำส่ง e-Tax Invoice & e-Receipt ปัจจุบัน กรมสรรพากรให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยความสมัครใจ เนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละรายมีขนาดธุรกิจแตกต่างกัน

นอกจากนี้  กรมสรรพากรยังมีหน่วยงานพิจารณาคืนภาษีทั่วประเทศ สำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อเสนอแนะของกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน  เนื่องจากยังมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่จะมีอำนาจตามกฎหมาย

กรมสรรพากร ยังมีระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น กรณีมีข้อสงสัยหรือมีความผิดปกติในการส่งออก และจะมีการประสานแจ้งกรมศุลกากร ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในแต่ละราย  กรณีมีเหตุสงสัยนิติบุคคลต่างประเทศมีการประกอบการจริงหรือไม่ หรือเป็นผู้ซื้อขายจริงหรือไม่ สามารถประสานไปยังกองวิชาการแผนกภาษีกรมสรรพากร เพื่อขอข้อมูลเฉพาะรายที่ต้องสงสัยไปยังสรรพากรในต่างประเทศได้

รวมทั้งประสานขอข้อมูลใบขนส่งสินค้าขาเข้า และใบขนสินค้าขาออกจากกรมศุลกากร ตามที่ได้ทำความตกลงตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมสรรพากรและคนศุลกากร เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปี 63 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7.45 แสนล้านบาท 

ในปี 2563 รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจำนวน 2.86 ล้านล้านบาท โดยเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7.45 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 26.04% ของภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ ซึ่งเป็นภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้จำนวนมากที่สุด

นายกรัฐมนตรียังให้ทุกหน่วยงานช่วยกันชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงข้อเท็จจริงว่า การจัดเก็บภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลในการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และใช้ในการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจ เช่นการกระตุ้นการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และการป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี

รวมทั้งมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษี มูลค่าเพิ่ม ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเอาจริง เอาจังของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo