Stock - Finance

เปิดอาณาจักร ‘ปูนซิเมนต์ไทย’ กับ 3 แกนธุรกิจหลัก ‘ก่อสร้าง-แพคเกจจิ้ง-เคมิคอลส์’

เปิดอาณาจักร “ปูนซิเมนต์ไทย” กับ 3 แกนธุรกิจหลัก “ก่อสร้าง-แพคเกจจิ้ง-เคมิคอลส์ ” พร้อมเจาะรายละเอียดกับ 2 แกนธุรกิจ กับแต่ละธุรกิจพร้อมจุดเด่น 

ชื่อของกลุ่ม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SCC เข้ามาอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนอีกครั้ง หลังประกาศแผนดันธุรกิจ “เคมิคอลส์” เข้าตลาดหุ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นวิธีปลดล็อกมูลค่าธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Spin-off ตามรอยธุรกิจ “แพคเกจจิ้ง” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อปี 2563

Spin-off คือการที่บริษัทแม่แยกส่วนธุรกิจย่อยของตัวเองออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งจะทำให้มีผู้บริหารคนละชุดกัน และเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างภายในบริษัท เพื่อนำไปสู่การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ประโยชน์ของการแยกบริษัทแม่-ลูก ทำให้เราเห็นมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทลูก ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงลดภาระทางการเงินจากบริษัทแม่อีกด้วย

ปูนซิเมนต์ไทย

ปูนซิเมนต์ไทย หุ้น Blue Ship ระดับท็อป

สำหรับหุ้น SCC หรือ ปูนซิเมนต์ไทยถือว่าเป็นหุ้น Blue Ship ระดับท็อปของไทย ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ที่สูงกว่า 4.6 แสนล้านบาท โดยเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี จุดเริ่มแรกของบริษัทมาจากการผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและทดแทนการนำเข้า ทำให้หลายคนคุ้นเคยกับฉายา “ปูนใหญ่” นั่นเอง

ต่อมาบริษัทได้ขยายการเติบโตไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น ปัจจุบันประกอบด้วย 3 แกนธุรกิจหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

2.  ธุรกิจเคมิคอลส์

3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง  เชื่อทุกคนน่าจะรู้จักแกนธุรกิจแรกอย่าง “ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง” กันดีอยู่แล้ว จากผลิตภัณฑ์ปูนตราช้าง ปูนตราเสือ รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น คอนกรีต อิฐ หลังคา ฝ้า ไม้สังเคราะห์ กระเบื้อง เซรามิก ที่บริษัทถือเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในอาเซียน

ดังนั้น วันนี้เราจึงอยากจะพาไปเจาะรายละเอียดกับอีก 2 แกนธุรกิจ นั่นคือ ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง กันให้มากยิ่งขึ้น

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ปูนซิเมนต์ไทย

ธุรกิจบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP  เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่

1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain)

2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain)

จุดเด่นของ SCGP อยู่ที่การให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีฐานลูกค้าที่กว้าง ทำให้เป็นแกนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งงในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน

ในปี 2563 ธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP มีรายได้จากการขาย 92,786 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการขยายธุรกิจปลายน้ำไปสู่ฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค

ผลการดำเนินงานของ SCGP ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2561 รายได้ 87,255 ล้านบาท กำไร 6,457 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 89,070 ล้านบาท กำไร 5,268 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 92,786 ล้านบาท กำไร 6,319 ล้านบาท

ปูนซิเมนต์ไทย

 เอสซีจี เคมิคอลส์ ปูนซิเมนต์ไทย

สำหรับกลุ่มธุรกิจ เอสซีจี เคมิคอลส์  หรือ SCGC ที่มีแผนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นเร็วๆ นี้ ประกอบธุรกิจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก

2. เม็ดพลาสติกพอลิโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง

3. เม็ดพลาสติกพอลิไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง

4. บริการท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ ให้บริการคลังเก็บเคมีภัณฑ์ทั้งที่เป็นก๊าซและของเหลว

จะเห็นได้ว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมิคอลส์แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงบริการปลายน้ำ ถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์แห่งโลกอนาคต

ผลการดำเนินงานของ SCGC ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2561 รายได้ 221,538 ล้านบาท กำไร 29,166 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 177,634 ล้านบาท กำไร 15,480 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 146,870 ล้านบาท กำไร 17,667 ล้านบาท

ปูนซิเมนต์ไทย

แม้ว่าผลการดำเนินงานจะค่อนข้างทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความท้าทายจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์และปริมาณขายที่ลดลง จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่จุดที่น่าสนใจของแกนธุรกิจเคมิคอลส์ คือรู้ไหมว่า SCGC สร้างกำไรคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 60% ของกำไรทั้งหมดที่กลุ่มปูนซิเมนต์ไทยทำได้ แปลได้ว่าธุรกิจเคมิคอลส์เป็นแกนธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก

สำหรับแผนการเข้าตลาดหุ้นของ SCGC เบื้องต้นมีการกำหนดสัดส่วนหุ้นสามัญเพิ่มทุน เป็นจำนวนไม่เกิน 25.2% ของทุนที่ชำระแล้ว รวม 3,854,685,000 หุ้น โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

สุดท้ายก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าปูนซิเมนต์ไทย จะจัดการแต่งตัว หุ้น SCGC เข้าตลาดได้ทันในปีนี้ไหม และจะประสบความสำเร็จตามรอยธุรกิจแพคเกจจิ้งอย่าง SCGP หรือเปล่า นับว่าเป็นอีกดีลที่น่าลุ้น และคงสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักรปูนซิเมนต์ไทยไม่มากก็น้อย

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน