Stock - Finance

เจาะพอร์ตธุรกิจ Non-Oil ของ ‘ OR ‘ สู่การเติบโตที่มากกว่าน้ำมัน!!

เจาะพอร์ตธุรกิจ Non-Oil ของ ‘OR’ สู่การเติบโตที่มากกว่าน้ำมัน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไรจาก Non-Oil เป็น 30-35% ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่บอร์ด OR อนุมัติแผนการลงทุนใหม่ 5 ปี  วงเงิน 93,000 ล้านบาท 

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของ หุ้น OR หรือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) แบ่งออก 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ได้แก่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบค้าปลีก PTT Station และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ให้กับกลุ่มอากาศยาน, เรือขนส่ง, กลุ่มอุตสาหกรรม

2. กลุ่มธุรกิจ Non-Oil  นำมาด้วยธุรกิจค้าปลีกต่างๆ เช่น Café Amazon, Jiffy, Texas Chicken, และฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ

3. ธุรกิจต่างประเทศ 

 OR

จากภาพรวมดังกล่าวกลุ่มธุรกิจน้ำมัน (Oil) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ใหญ่ที่สุดให้กับบริษัท แต่ทว่ากลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตที่สูง และให้มาร์จินดีที่สุด กลับเป็นธุรกิจ Non-Oil ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้าขายน้ำมัน ทำให้ OR เร่งเครื่องพัฒนา Business unit นี้มาโดยตลอด

ความได้เปรียบของ OR ในการพัฒนาธุรกิจ Non-Oil นั่นคือการมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กระจายอยู่ทั่วประเทศ และค่อนข้างมีการบริการที่ครบวงจรไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมๆ เลยก็ว่าได้ ทำให้ OR สามารถใช้จุดแข็งนี้มาต่อยอดทั้งการดึงดูดลูกค้าและพันธมิตรให้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่ร้านอาหาร แต่กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ

สรุปธุรกิจ Non-Oil ของ OR มีอะไรบ้าง?

OR

 

1. Café Amazon

ธุรกิจร้านกาแฟที่มีมากกว่า 3,700 สาขา จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กินส่วนแบ่งตลาดในแง่ของยอดขายอยู่ที่ 39.4% และหากนับเฉพาะส่วนแบ่งของการขายกาแฟในปั๊มน้ำมัน Café Amazon กินส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 84.1%

2. Texas Chicken

ร้านฟาสต์ ฟู้ด ไก่ทอด ที่มีอยู่กว่า 80 สาขาในประเทศไทย ซึ่งเป็นเฟรนไชส์จากสหรัฐอเมริกาที่ OR นำเข้ามาในไทยเมื่อปี 2558 แต่สาขาขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีคู่แข่งเบอร์ใหญ่ที่เป็นกำแพงอย่าง KFC และ McDonald’s

3. ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ในเครือ 

ประกอบด้วย ‘ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ’ ร้านขายติ่มซำในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายซื้อสะดวก, ‘Pearly Tea’ ร้านชานมไข่มุกสไตล์ไต้หวัน, ‘โอ้กะจู๋’ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ, ‘Pacamara’ ร้านกาแฟแบบ Specialty coffee, ‘KAMU KAMU’ แบรด์ชานมไขมุกสไตล์ไต้หวัน และ ‘โคเอ็น ซูชิ บาร์’ ร้านบุฟเฟ่ต์ อาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมียม โดยทั้งหมดมีสาขารวมกันมากกว่า 200 สาขา เปิดแล้ว! โอ้กะจู๋ สาขาแรกในปั๊ม ที่ พีทีที สเตชั่น Active Park เมืองทองธานี

หุ้น OR

4. ร้านสะดวกซื้อ 7-11 และ Jiffy 

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenience Store ที่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กตั้งอยู่ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันรวมกันกว่า 2,141 สาขา

5. การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ

OR มีการลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่านบริษัทย่อยในกลุ่ม ได้แก่ ‘ORZON Ventures’ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ SG Hold Co.และ 500 TukTuks เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Mobility & Lifestyle และ ‘ORBIT Digital’ บริษัทด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเติมเต็มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรของ OR สำหรับการทำ Data Monetization

ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไรจาก Non-Oil เป็น 30-35% ใน 5 ปีข้างหน้า

การขยายธุรกิจไปที่ Non-Oil อย่างเข้มข้น เพื่อเป้าหมายปรับเพิ่มอัตรากำไรสุทธิให้ดีขึ้น และต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรของ Non-Oil ที่ปัจจุบันมีประมาณ 25-26% เป็น 30-35% ใน 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี โมเดลนี้จำเป็นต้องมีเงินทุนรองรับจำนวนมาก เพราะต้องอาศัยการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่บริษัทใช้ในช่วงปีที่ผ่านมา

ล่าสุด บอร์ด OR ได้มีมติอนุมัติแผนการลงทุนใหม่ 5 ปี (2565-2569) ในวงเงิน 93,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากแผน 5 ปีเดิม (2564-2568) ที่กำหนดไว้จำนวน 74,600 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้กับธุรกิจ Non-Oil เเละลงทุนในเรื่อง EV Charging Stations ในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท

 OR

ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ปรับตัวร่วมกันของทั้งกลุ่มปตท. เลยก็ว่าได้ สำหรับการขยายไปธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพา “น้ำมัน” เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในอนาคตน้ำมันมีโอกาสเติบโตไปกว่านี้ได้ยากแล้ว จากปัญหาสิ่งแวดล้อม และการดิสรัปชั่นของอุตสาหกรรมพลังงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน