Stock - Finance

‘RATCH – BANPU’ หุ้นพลังงานเพิ่มทุน ทำไมราคาถึงลงแรง?

สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมานี้ ต้องเห็นประเด็นร้อนเรื่อง “การเพิ่มทุน” เพราะมี 2 หุ้นพลังงานขนาดใหญ่ที่ประกาศเพิ่มทุนติดๆ กัน นั่นคือ RATCH และ BANPU ลองมาดูรายละเอียดต่างๆ ที่เราสรุปมาให้ในบทความนี้กัน

RATCH เพิ่มทุน 769 ล้านหุ้น

เริ่มกันที่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RATCH เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ประกาศเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 769 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน ซึ่งคาดว่ามูลค่าระดมทุนจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท 

บ้านปู

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนครั้งนี้ RATCH ตั้งใจจะนำเงินไปลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักคือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนถ่านหิน Paiton ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 2,045 เมกะวัตต์ 

มีการประเมินเบื้องต้นว่าหากมีการเข้าลงทุนสำเร็จตามแผน RATCH จะรับรู้กำไรได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป ซึ่งทางโรงไฟฟ้า Paiton จะสร้างกำไรปีละประมาณ 3,723 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลอินโดนีเซีย 21 ปี 

แต่อย่างไรก็ตาม หลังประกาศเพิ่มทุนครั้งนี้ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น RATCH ทันที เพราะในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ราคาหุ้นลงไปทำ New low ในรอบ 1 ปีที่ราคา 45.75 บาทต่อหุ้น ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 47 บาทต่อหุ้น ปรับลดลงถึง -4.75 จุด หรือ -9.18% และราคาหุ้นก็ยังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง 

ratch banpu22 1 e1625885818574

 

BANPU เพิ่มทุน 5,074.58 ล้านหุ้น

อีกบริษัทที่ประกาศเพิ่มทุนตามมาติดๆ ก็คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU โดยประกาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพิ่มทุนจำนวน 5,074.58 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นการเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม อัตรา 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 5 บาท และแจก Warrants อีก 3 ชุด

BANPU คาดว่าจะสามารถระดมทุนประมาณ 31,716 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินของบริษัท สำหรับขยายธุรกิจและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินในการลงทุนโครงการต่างๆ ในอนาคต แต่ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าจะนำเงินไปลงทุนโครงการไหน และสร้างผลตอบแทนกลับมาอย่างไร 

แน่นอนว่าการเพิ่มทุนรอบนี้ของ BANPU หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอผลกระทบต่อราคาหุ้นเช่นกัน เพราะเป็นการประกาศเพิ่มทุนกว่าเท่าตัว แถมยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนการใช้เงิน ซึ่งความเคลื่อนไหวราคาหุ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ปรับตัวลงตั้งแต่เปิดตลาด ก่อนจะไปปิดที่ 13.30 บาท ปรับลดลง -2.30 จุด หรือ -14.74% เลยทีเดียว

หุ้นเพิ่มทุน ทำไมราคาถึงชอบลง

เอาจริงๆ แล้วการเพิ่มทุนมีทั้งข้อดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนนั้นบริษัทนำเงินไปใช้ทำอะไร เช่น จ่ายหนี้ ล้างขาดทุนสะสม เสริมสภาพคล่อง หรือ ขยายธุรกิจ แต่สิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นก็คือ Negative Sentiment ในระยะสั้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

ประการแรกก็คือเรื่องของ Share Dilution หรือ สัดส่วนการถือหุ้น เนื่องจากการเพิ่มทุนเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นเข้ามาใหม่ หากเราที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนตาม แปลว่าสัดส่วนการเป็นเจ้าของกิจการของเราก็จะลดลงโดยทันที 

ประการที่สองที่กระทบตามมาก็คือเรื่อง Earning per Share หรือ กำไรต่อหุ้น เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้น เมื่อจำนวนหุ้นมากขึ้น แต่หากบริษัทกำไรเท่าเดิม นั่นหมายความว่าทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงนั่นเอง

ดังนั้นหลายคนเมื่อเห็นมีข่าวหุ้นเพิ่มทุน จึงมักเลือกขายหุ้นออกไปก่อน และรอจนกว่าจะแน่ใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนั้นเป็นผลบวกต่อบริษัท และดีต่อการเติบโตในอนาคตจริงๆ นักลงทุนถึงจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน