Stock - Finance

ถอดบทเรียน ‘Bank Run’ เรารู้อะไรจากวิกฤตนี้

ถอดบทเรียน “Bank Run” เหตุการณ์ที่คนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารพร้อมๆ กัน เพราะกลัวธนาคารจะล้มละลาย ซึ่งมักเกิดจาก “วิกฤตศรัทธา”

ว่ากันว่าหลายครั้งวิกฤติการณ์ทางการเงินระดับโลก ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาเล็กๆ ที่ค่อยๆ สะสม และลุกลามเป็นวงกว้างจนพังไปทั้งระบบ Bank Run เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี บทความนี้เลยอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเหตุการณ์นี้กันให้มากขึ้น

Bank Run คืออะไร?

Bank Run เป็นเหตุการณ์ที่คนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารพร้อมๆ กัน เพราะกลัวธนาคารจะล้มละลาย ซึ่งมักเกิดจาก “วิกฤตศรัทธา” เมื่อคนมาถอนเงินออกไปเยอะๆ สุดท้ายเงินสดในธนาคารก็อาจไม่เพียงพอ จนขาดสภาพคล่อง และอาจล้มละลายเฉียบพลันได้

ความน่ากลัวของเรื่องนี้ คือ “เมื่อวิ่งไปธนาคาร แต่ถอนเงินไม่ได้” ความรู้สึกนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก เป็นสัญญาณของความไม่ปลอดภัย  การตกใจของผู้คนนี่แหละ บางครั้งก็นำไปสู่การล่มละลายของธนาคารอีกหลายแห่งเป็นโดมิโน แถมอาจรุนแรงกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาวได้เหมือนกัน

ถอดบทเรียน Bank Run

ย้อนรอยเหตุการณ์ Bank Run

ในอดีตเคยเกิดวิกฤต Bank Run มาแล้วหลายครั้ง เช่น

ช่วงวิกฤต The Great Depression ปี 1929-1931 ที่มีฝูงชนกว่า 20,000 คน แห่มาถอนเงินหน้า Bank of the United States สาขานิวยอร์ก จนต้องปิดธนาคาร

ช่วงวิกฤต Subprime ปี 2007-2009 มีธนาคารหลายแห่งในสหรัฐ ต้องล่มสลาย ที่มีขนาดใหญ่สุดก็คือ Washington Mutual Bank โดยมีต้นตอมาจากการปล่อบสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กับลูกหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ

ความสั่นคลอนของระบบการเงินในสหรัฐช่วง Subprime ได้ขยายมาถึงหลายประเทศในยุโรป และที่เป็นเหตุการณ์ชื่อดังมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณีของ Northern Rock ในอังกฤษ เป็นภาพของประชาชนทั่วประเทศ ต่อคิวเพื่อถอนเงินและปิดบัญชี เพียงแค่วันเดียวถึง 1,000 ล้านปอนด์ จนรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามาอุ้มในที่สุด

ล่าสุดปี 2023 ก็เกิดขึ้นอีกครั้งกับกรณีของ Silicon Valley Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกในสหรัฐ หลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องยอมขายหุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์แบบขาดทุน

สาเหตุของ Silicon Valley Bank เพราะว่าธนาคารมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Venture Capital ซึ่งมีการลงทุนและปล่อยสินเชื่อให้กับ Startups แต่เมื่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็นขาลง ประสบปัญหาการระดมทุน เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น จึงเกิดการถอนเงินจำนวนมากออกจากธนาคาร

อีกประเด็น คือ Silicon Valley Bank มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ไม่สอดคล้องกัน ทางเศรษฐศาสตร์ (asset-liabilities mismatch) โดยเป็นการระดมเงินทุนผ่านเงินฝากระยะสั้น แต่นำเงินทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มูลค่าตราสารหนี้ที่ธนาคารถือไว้จึงปรับตัวลง จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาทันที

ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ความน่าสนใจของวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งต่างๆ นั่นคือเมื่อมีปัญหาที่ประเทศไหน มักจะส่งต่อไปสู่อีกประเทศหนึ่งอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคที่ทั่วโลกมีความเกี่ยวข้องกันในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน

จะเห็นว่าอย่างเหตุการณ์ Bank Run ในสหรัฐ ที่เริ่มต้นจาก Silicon Valley Bank ใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียว ลุกลามไปถึงธนาคารอื่นๆ อย่าง Silvergate Bank และ Signature Bank

นอกจากนี้ ยังแพร่กระจายไปฝั่งยุโรป แม้ต้นตอของปัญหาจะแตกต่างกันก็ตาม ได้แก่ Credit Suisse ธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่เกือบถึงขั้นล้มละลาย จนต้องตัดสิดใจขายกิจการในราคาสุดกล้ำกลืนให้ธนาคารคู่แข่งอย่าง UBS เพื่อความอยู่รอด

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางระบบเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม และเป็นสัญญาณที่ส่อแววว่าขณะนี้เรากำลังก้าวขาไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ในอนาคต จริงอยู่ว่าเศรษฐกิจภาพใหญ่ยังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นมา เราย่อมจะต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับวิธีคิดให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน