Stock - Finance

สมรภูมิโชห่วยเดือด! ทุนใหญ่พร้อมใจรุกตลาด

มองเผินๆ ดูเหมือนว่าธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยจะถูกครอบครองตลาดด้วยผู้ค้ารายใหญ่ไม่กี่ราย แต่เอาจริงๆ แล้ว เมื่อกางตัวเลขออกมาเรากลับพบว่ามีผู้เล่นอยู่ในตลาดนี้มากพอสมควร โดยเฉพาะที่เน้นเจาะกลุ่มค้าปลีกชุมชนตามต่างจังหวัด หรือ “โชห่วย”

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย รายงานว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปัจจุบัน มีมูลค่าประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจโชห่วย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 45 – 47% ของทั้งหมด มูลค่าประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นช่องทางขยายธุรกิจที่สำคัญ และยังเปิดโอกาสให้หลายธุรกิจเข้ามาแย่งชิงพื้นตรงนี้ ด้วยโมเลธุรกิจที่แตกต่างกัน

เมื่อมองเข้าไปในสมรภูมินี้ เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้เล่นในตลาดหุ้นได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกขอให้นิยามว่าเป็น “หุ้นค้าปลีกภูธร” คือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น หุ้น TNP หรือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ และหุ้น KK หรือ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) เครือร้านค้าปลีกรายใหญ่ของภาคใต้

สมรภูมิโชห่วยเดือด

สำหรับกลุ่มที่สอง คือ “แฟรนไชส์โชห่วยทุนใหญ่” โดยการที่เจ้าใหญ่เปิดเกมชิงร้านโชห่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ผ่านการสร้างเครือข่ายกับชุมชน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมถึงใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าของตัวเองไปทั่วประเทศ ซึ่งกลายเป็นโมเดลที่กำลังมาแรงมาก

โมเดลธุรกิจของแบรนด์โชห่วยรูปแบบนี้ จะเป็นการที่ทุนใหญ่เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับเจ้าของร้านโชห่วยในชุมชน โดยบริษัทจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการปรับปรุงภาพลักษณ์หน้าร้าน ระบบการสต๊อกสินค้า การทำโปรโมชัน การติดตั้งระบบคิดเงิน (POS) เป็นต้น แลกกับการที่พาร์ทเนอร์ต้องทำตามเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น วางเงินค้ำประกัน วางขายสินค้าที่ส่วนใหญ่มาจากบริษัทแม่ ไม่สามารถกำหนดราคาขายและโปรโมชันได้เอง เป็นต้น

ปัจจุบันแฟรนไชส์ร้านโชห่วยที่ทุนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วย
1. ร้านถูกดีมีมาตรฐาน ของหุ้น CBG หรือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
2. ร้านโดนใจ ภายใต้แบรนด์ Big C ของหุ้น BJC หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
3. ร้านนี้ขายดี ภายใต้แบรนด์ Lotus’s ของหุ้น MAKRO หรือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
4. บัดดี้มาร์ท ของหุ้น MAKRO หรือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดในตอนนี้ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นไทย แต่เป็นของกลุ่มยูนิลีเวอร์ (Unilever) อย่าง “ร้านติดดาว” ปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมกว่า 12,000 ร้านค้าทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่เปิดตัวมาก่อนเจ้าอื่นตั้งแต่ปี 2555 และมีจุดเด่นในเรื่องการไม่ติดค่ามัดจำสินค้า

276247700 7715200145189033 4394196303950263484 n

ทว่าแบรนด์อื่นๆ ก็กำลังไล่ตามมาเรื่อยๆ อย่างเช่น ร้านถูกดีมีมาตรฐาน ของ CBG ปัจจุบันเติบโตมากกว่า 5,000 ร้านค้าแล้ว ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องระบบจัดการร้านแบบโมเดิร์นเทรด (POS) เข้าไปช่วยบริหารจัดการร้านให้มีมาตรฐาน สามารถบริหารต้นทุน รายได้ และกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อปลายปี 2565 อย่าง บัดดี้มาร์ท ของ MAKRO ด้วยการดึงร้านโชห่วย ที่มีร้านอยู่แล้วหรือผู้สนใจเปิดร้านค้าเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ ผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญในด้านสินค้าของแม็คโคร และประสบการณ์ในการคลุกคลีกับปัญหาของร้านโชห่วยกว่า 30 ปี ประกอบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ตลอดจนสามารถข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้แบบลงลึก

ทั้งนี้ MAKRO ตั้งเป้าหมายที่จะปั้นโมเดลร้านบัดดี้มาร์ท ภายในสิ้นปี 2566 จะสร้างการเติบโตขึ้นเป็น 2,000 ร้านค้า พร้อมทั้งมีเป้าหมายระยะยาว ผลักดันให้ตัวเลขของร้านเครือข่ายบัดดี้มาร์ท ทะยานสู่ 20,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของกลุ่มบริษัทให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

shutterstock 382284004

นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ และเป็นเกมการแข่งขันระยะยาวที่อาจจะต้องวัดกันที่สายป่านว่าใครจะยาวมากกว่ากัน ซึ่งผู้ชนะเกมนี้นอกจากจะครองส่วนแบ่งตลาดมหาศาลแล้ว ยังเป็นช่องทางขายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของบริษัทใหญ่ได้อีกด้วย ซึ่งนั่นก็จะเป็นการเสริมธุรกิจที่ได้ประโยชน์ในหลายมิติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน