Startup

ลงทุนสตาร์ทอัพไทย โตก้าวกระโดด ไตรมาสแรกทะลุ 530 ล้านดอลลาร์

Nikkei Asia ชี้ การลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเติบโตก้าวกระโดดเงิน ลงทุนรวมกว่า 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปีนี้ อานิสงส์มาตรการยกเว้น Capital Gains Tax 

รายงานของ Nikkei Asia ระบุว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับสตาร์ทอัพ ด้วยการจำลองโมเดลของสิงคโปร์ ซึ่งเป็น Hub ของผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค โดยแนวคิดนี้บ่งชี้ได้จากการที่รัฐบาลไทย ออกมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax และประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

สตาร์ทอัพไทย

สำหรับ มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นการส่งเสริมให้บริษัทร่วมทุนและนักลงทุน ได้รับการจูงใจจากมาตรการสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น Automotive Technology , Smart Technology, Biotechnology เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่งผลให้การลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เพิ่มสูงขึ้นถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2566 ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

จากผลการจัดอันดับ ดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) โดย StartupBlink พบว่า สิงคโปร์ถือเป็นประเทศในเอเชียอันดับต้น ๆ ที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ โดยอยู่อันดับ 6 แซงหน้าจีน (อันดับ 12) และญี่ปุ่น (อันดับ 18)

ทั้งนี้ มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์เป็นดันดับต้น ๆ ของสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็ม  ได้แก่ การคอร์รัปชันต่ำ การใช้เอกสารที่ไม่ยุ่งยาก และมีประชากรที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ได้เปรียบว่าประเทศในแถบตะวันตก

01

สำหรับสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็ม ในประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 ต่ำกว่าอินโดนีเซีย (อันดับ 41) และมาเลเซีย (อันดับ 43)

ส่วนความท้าท้ายของสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็ม ในประเทศไทย เช่น การขาดแคลนนักลงทุน และทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะสูง เป็นต้น

แต่จากรายงานของ Nikkei Asia ยังชี้ให้เห็นถึงการมี Capital Gains Tax ได้กระตุ้นการลงทุนใน Startup ไทย ได้ถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2566 (อ้างอิงข้อมูลจาก DealStreetAsia) ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Roojai หรือ รู้ใจ ประกันออนไลน์ Insurance-tech Startup ไทยสามารถระดมทุนได้ 42 ล้านดอลลาร์ในรอบการระดมทุนที่นำโดย กลุ่มประกันภัยจากเยอรมนี HDI International

ขณะเดียวกัน ในเดือนกันยายน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มีแผนที่จะเปิดตัวกองทุนสำหรับ สตาร์ทอัพ โดยเริ่มต้นที่ 28.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีผู้ให้กู้เป็นบริษัทย่อยของ Mitsubishi UFJ Financial Group ของญี่ปุ่น และคาดว่าจะมีนักลงทุนประมาณ 50 รายเข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์หลักของกองทุนเพื่อสร้างสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็ม ในประเทศไทย

นอกจากนี้ข้อมูล Cento Report ยังพบว่าในครึ่งปีแรก 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี (Tech Investment) เพียง 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในช่วงปลายปี 2022 แสดงให้เห็นถึงเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลจาก Nikkei Asia สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะผู้นำภาคเอกชนด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผลักดันกฎหมายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ให้มีเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2566

03

ถือเป็นก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนไทย สู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันจำนวน เทค สตาร์ทอัพในประเทศไทย มีเพียง 1,000 ราย ในขณะที่สิงคโปร์มี เทค สตาร์ทอัพ ถึง 5 หมื่นราย จึงสามารถระดมทุนด้านเทคโนโลยีได้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ จึงเห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและ สตาร์ทอัพในประเทศไทย จึงได้ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมเครือข่ายนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SVCA Conference 2023 จัดโดย Singapore Venture Capital & Private Equity Association และได้พบกับ Sequoia Capital ซึ่งเป็นหนึ่งใน VC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง VC แถวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้เน้นย้ำยุทธศาสตร์ในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub ของ Innovation & Technology ดังเช่นสิงคโปร์ โดยประเทศไทยได้มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็น 0% ทำให้ข้อจำกัดทางกฎหมายลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

02 คุณศุภชัย
ศุภชัย เจียรวนนท์

สิ่งสำคัญในการเตรียมศักยภาพของประเทศสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ว่าต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ที่มีตั้งแต่ระดับสูงสุดและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคเอกชน ในการกำหนด และขับเคลื่อนนโยบายดึงดูดทุนที่ชัดเจนและรวดเร็ว ก็จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

ขณะเดียวกันก็ต้องดึง Talent จากทั่วโลกมาด้วย โดยสภาดิจิทัลฯ จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดเงินลงทุนและ Talent เข้าประเทศ และจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

สำหรับมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้นสตาร์ทอัพของไทย

มาตรการดังกล่าว จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) สนับสนุนให้สตาร์ทอัพของไทย สามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของสตาร์ทอัพ พร้อมก้าวสู่ระดับสากล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo