โฆษก กทม. ย้ำ “สภากรุงเทพมหานคร” ต้องถกปม รถไฟฟ้าสายสีเขียว แม้ สภาฯล่ม “ชัชชาติ” ลั่น ถ้าเราไม่พูด ประชาชนจะพูดผ่านใคร ยันแค่ขอรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่ขอมติ
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีสภากรุงเทพมหานครล่ม หลังมีการเสนอญัตติขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ประเด็นรถไฟฟ้า สายสีเขียว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ กรุงเทพมหานคร ตั้งใจจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครโดยตรง
ดังนั้น จึงมีการเสนอญัตติ ขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร ในเรื่องแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน
สำหรับข้อกังวลของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครบางท่าน ถึงอำนาจในการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสารของสายสีเขียวนั้น กรุงเทพมหานครยืนยันว่า ญัตติดังกล่าว ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจ เพื่อขอมติสภากรุงเทพมหานครเพื่อนำไปใช้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการขอรับความเห็นของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเท่านั้น
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ย้ำว่า ไม่ได้ลงมติหรือใช้อำนาจอะไร กทม.เป็นตัวแทนประชาชน ถ้ากทม.ไม่พูด ประชาชนจะพูดผ่านใคร
ทั้งนี้ ความคิดเห็นของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกท่าน มีความสำคัญต่อการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะท่านที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเห็นไม่เห็นด้วยในมุมมองต่าง ๆ ก็จะจดบันทึกไว้โดยละเอียด
จากนั้นจะรวบรวมนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
ขอยืนยันว่าการยื่นญัตติดังกล่าวเป็นไปเพื่อชี้แจงรายละเอียดในส่วนการบริหารจัดการในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ให้สภากรุงเทพมหานครได้รับทราบ และเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้น
นอกจากนี้ สภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นส่วนสำคัญตามโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และมีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับกรุงเทพมหานคร และพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ
ดังนั้น ความคิดเห็นของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ถือเป็นเสียงสำคัญที่สะท้อนความต้องการของประชาชน
หากสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ให้รอบคอบรอบด้าน โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการหรือให้ข้อมูล ฝ่ายบริหารก็พร้อมที่จะดำเนินการ
ขณะเดียวกัน การนำเรื่องเข้าสู่สภากรุงเทพมหานคร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร จะได้หารือร่วมกันอย่างจริงจัง ในการช่วยกันนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปสู่ทางออกที่ดี
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กทม. ขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างงานโยธา ‘สายสีเขียว’ ถ้าไม่ได้พร้อมคืนให้รัฐบาล
- ลุ้น! สภากทม.เคาะค่าโดยสาร ‘สายสีเขียว’ 26 ต.ค.นี้
- เช็คชื่อ 14 เขตวันนี้ฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน กทม.เตือน PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น!