Politics

‘Long COVID’ งานวิจัยพบผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย!!

“หมอธีระ” เผย Long COVID เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบ ไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย งานวิจัยพบผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 719,114 คน ตายเพิ่ม 1,697 คน รวมแล้วติดไป 583,673,113 คน เสียชีวิตรวม 6,423,641 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 79.23% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 52.38%

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้ พบว่าจำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้กระทรวงสาธารณสุขไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

LINE ALBUM รวมหมอโควิด 220803 0

การเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในคนติดเชื้อที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส
Deo R และคณะ จาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องการเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส (untreated COVID-19 patients)
สาระสำคัญคือ พบว่าผู้ที่ติดเชื้อจะมีอัตราการมีไวรัสกลับสูงขึ้น (viral rebound) หลังจาก 5 วันราว 12% หรือประมาณ 1 ใน 8 คน
โดยปริมาณไวรัสที่กลับสูงขึ้นนั้น จะอยู่ในระดับสูงเกิน 100,000 ตัวต่อซีซี ราว 5%

ในขณะที่มีอัตราการเกิดอาการซ้ำขึ้นมา (symptom rebound) หลังจากอาการช่วงแรกดีขึ้น (initial improvement) ได้ราว 27% หรือสูงถึง 1 ใน 4
โดยพบคนที่มีอาการกลับซ้ำนั้นเกิดขึ้นหลังจากอาการช่วงแรกหายไป (initial symptom resolution) มีได้ราว 10%

อย่างไรก็ตาม การเกิดไวรัสกลับมาสูงขึ้นในระดับสูง ร่วมกับมีอาการกลับซ้ำขึ้นมาพร้อมกันนั้น เกิดได้น้อย ราว 2%

ผลการวิจัยนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า คนที่ติดเชื้อแม้จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ก็มีโอกาสเกิด rebound ได้เช่นเดียวกันกับที่เราพบจากคนที่ได้ยาต้านไวรัส
ดังนั้น หากติดเชื้อ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ (14 วันสำหรับ Omicron หรืออย่างน้อย 10 วัน โดยไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบ) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ

เหนืออื่นใด “การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ”เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันตัวเราและครอบครัวในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่เราจะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้

การปฏิบัติตัวหลังติดเชื้อไปแล้ว

ดังที่เราทราบกันดีจากผลการวิจัยทั่วโลก คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น จะเกิดปัญหา Long COVID ตามมาได้ โดยมีโอกาสได้ตั้งแต่ 5-30%
Long COVID นั้น มาในรูปแบบที่เป็นอาการผิดปกติคงค้างมาตั้งแต่ช่วงแรก และเรื้อรังต่อเนื่อง หรือจะมาในรูปแบบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่รักษาการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้วเกิน 4 สัปดาห์
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย โดยความรู้ปัจจุบันจำแนกกลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่ ระบบหัวใจและทางเดินหายใจ ระบบประสาท/อารมณ์/จิตเวช กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับหลายอวัยวะ และระบบทางเดินอาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกิดปัญหาในระบบอื่น และกลายเป็นโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ Long COVID เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง และเกิดได้ทุกเพศทุกวัย งานวิจัยต่างๆ พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และคนที่เคยติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงเสี่ยงกว่าคนมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ

ยอดเสียชีวิตโควิด

ดังนั้น หลังจากที่รักษาการติดเชื้อในระยะแรกเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงควรหมั่นสังเกต ตรวจตราสุขภาพของตัวเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และให้การดูแลรักษา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ การไปตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สมควรทำ

อ้างอิง
1. Deo R et al. Viral and Symptom Rebound in Untreated COVID-19 Infection. medRxiv. 2 August 2022.
2. Sidik SM. Heart disease after COVID: what the data say. Nature. 2 August 2022.

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight