“หมอธีระ” อัพเดทอาการ Long COVID ในเด็ก ชี้ส่วนใหญ่ปัญหาด้านสมาธิ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ย้ำ!! การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การใส่หน้ากากที่ถูกต้องสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 30 กรกฎาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 769,597 คน ตายเพิ่ม 1,698 คน รวมแล้วติดไป 580,219,611 คน เสียชีวิตรวม 6,416,552 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 76.03% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 57.24%
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…อัพเดต Long COVID ในเด็ก
ทีมจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบด้านระบบประสาทและจิตเวชในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ที่ติดโควิด-19 แล้วประสบปัญหา Long COVID จำนวน 18 คน ที่ได้รับการส่งต่อมารับการดูแลรักษาต่อ
จากการประเมินพบว่า ส่วนใหญ่มีอาการด้านสมาธิ (83%), อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า และนอนไม่หลับ (77.7%) รวมถึงอาการอื่นเช่น ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ มีประวัติอดีตคือ 50% มีปัญหาด้านสมาธิ และ 72% มีปัญหาด้านอารมณ์เช่น ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมาก่อนที่จะติดโรคโควิด-19
ผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านสมาธิและอารมณ์มาก่อนนั้นอาจมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหา Long COVID ได้มากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์ในกลุ่มประชากรมากขึ้น และหาความสัมพันธ์ของปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิด Long COVID ด้วย
…การระบาดของไทย ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อ
นอกจากนี้ การพกสเปรย์แอลกอฮอล์ เพื่อล้างมือ และพ่นฆ่าเชื้อบริเวณที่จะจับต้องหรือใช้งานในที่สาธารณะ (เช่น สุขา) ก็จะเป็นประโยชน์ ทั้งป้องกันโควิด-19 และฝีดาษลิง
อ้างอิง Rowena Ng et al. Neurocognitive and Psychosocial Characteristics of Pediatric Patients With Post-Acute/Long-COVID: A Retrospective Clinical Case Series. Archives of Clinical Neuropsychology. 29 July 2022.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ยอดดับโควิดพุ่ง! ‘หมอธีระ’ เปิด 5 วิธีเอาตัวรอดจาก ‘โควิด-ฝีดาษลิง’
- ‘หมอธีระ’ เตือนคนกลุ่มนี้ เสี่ยงสุดติด ‘ฝีดาษลิง’
- ‘หมอธีระ’ ลั่นจากประสบการณ์ตรง ‘โอไมครอน BA.5’ แรง! ยอดเสียชีวิตพุ่ง