Politics

กรมอุทยานฯ ออกมาตรการเข้ม ป้องกัน ไข้มาลาเรีย ‘โนวไซ’เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

กรมอุทยานฯ ออกมาตรการเข้ม ป้องกัน ไข้มาลาเรีย “โนวไซ” เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ ประสานกรมควบคุมโรค ร่วมสำรวจและเฝ้าระวัง

นายสัตวแพทยภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามที่มีการพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้ มาลาเรียชนิด “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) ซึ่งติดต่อจากลิงสู่คน โดยยุงก้นปล่องเพศเมียกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า ยุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้  กรมอุทยานฯ ได้ออกมาตรการควบคุม และป้องกันโรคไข้ มาลาเรีย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งนักท่องเที่ยวและจ้าหน้าที่ผู้ฏิบัติงาน

ไข้มาลาเรีย

สำหรับเจ้าหน้าที่ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตระกูลลิงเข้าหรือออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพื่อควบคุมไม่ให้มีการกระจายของโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากโรคไข้ มาลาเรีย มีสัตว์ป่าตระกูลลิงเป็นสัตว์อมโรคคือ มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการป่วยหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย และมียุงก้นปล่องเป็นแมลงพาหะนำโรค คนจะสามารถได้รับเชื้อนี้จากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด
  2. เฝ้าระวังการป่วยหรือตายผิดปกติในสัตว์ตระกูลลิงในบริเวณอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และบริเวณใกล้เคียง หากพบลิงตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อทำการผ่าชันสูตรและเก็บตัวอย่างส่งตรวจต่อไป
  3. ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวให้อาหารแก่ลิง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อปรับพฤติกรรมของลิงมิให้มีความใกล้ชิดกับคน
  4. ติดมุ้งลวดบริเวณบ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่ บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน รวมถึงห้องต่างๆภายในอาคาร เช่น ห้องครัว ห้องประชุม เป็นต้น
  5. ให้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพและอนามัยของเจ้าหน้าที่ กรณีเกิดอาการเจ็บป่วยต้องสงสัย เช่น ปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่นเมื่อยตัว เป็นต้น ให้หัวหน้าอุทยานฯ หรือหัวหน้าเขตฯ ประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องโดยด่วน
  6. ใช้ยาทากันยุง ยาจุดไล่ยุง และใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิด
  7. ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประสานงานหรือจัดหาผู้แทนในการประสานงานข้อมูลเรื่องการระบาด ของโรคไข้ มาลาเรียที่พบในคนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้มีข้อมูลในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ และสังเกตอาการของตนเองหลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
  8. จัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ และสุขอนามัยที่ดีภายในหน่วยงาน เช่น การฉีดพ่นยากำจัดยุงบริเวณโดยรอบพื้นที่อาศัยของคน ภายในเขตเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นประจำ ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของยุงก้นปล่อง

ไข้มาลาเรีย

สำหรับนักท่องเที่ยวมี ข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. เข้าพักในบ้านพักที่มีมุ้งลวดซึ่งบริการในพื้นที่ หรือนอนในมุ้ง
  2. หากต้องการค้างคืนในป่าให้ใช้มุ้งชุบน้ำยาหรือเต็นท์ที่มีมุ้งเท่านั้น
  3. ใช้ยาทากันยุง ยาจุดไล่ยุง และใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิด
  4. งดให้อาหารแก่ลิงภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อปรับพฤติกรรมของลิง มิให้มีความใกล้ชิดกับคน
  5. ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน หากมีอาการ ปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่น เมื่อยตัว และเคยไปพักค้างคืนในป่า หรือสถานที่ที่มีโรคไข้มาลาเรียระบาด ควรรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมทั้งแจ้งประวัติการค้างคืนในป่าให้แพทย์ทราบด้วย

ทั้งนี้กรมอุทยานฯ จะเร่งประสานกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เพื่อร่วมกันสำรวจและเฝ้าระวังโรคในคนและลิงโดยเร็ว

ไข้มาลาเรีย

จากข้อมูลของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคระบุว่า ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทยได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงี๊ยะ โดยพบรายงานผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด แต่ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยมาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง สงขลา และตราด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo