COVID-19

โอไมครอนระบาดแล้ว!! ‘หมอขวัญชัย’ แนะรัฐ พิจารณา 5 ประเด็นต่อไปนี้

ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. แนะภาครัฐพิจารณา 5 ประเด็น หลังโอไมครอนระบาดไทย ลั่นอย่าอิดเอื้อนปิดข้อมูล ใช้ ATK ตรวจเร็วกว่า RT-PCR

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo หลังไวรัสโอไมครอนระบาดไทย แนะรัฐควรพิจารณา 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้

โอไมครอนระบาด

วันนี้กลับมาคุยต่อที่ทิ้งประเด็นไว้เมื่อวานว่าภาครัฐควรพิจารณาอะไรบ้างในสถานการณ์การระบาดของโอไมครอน

1. ควรจะสร้างความแตกตื่นให้สังคมเมื่อพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนหรือไม่

ที่ภาครัฐไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ ปก ๆ ปิด ๆ อิด ๆ เอื้อน ๆ ว่า โอไมครอนไม่น่าจะเข้ามาในไทย หรือพยายามจะบอกว่าเอาโอไมครอนอยู่แน่ไม่มีทางแพร่ระบาดในประเทศ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ต้องยอมรับ และวางแผนตั้งรับการระบาดของโอไมครอนอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีข้อมูลที่พอจะเชื่อได้ว่าโอไมครอนน่าจะก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือการฉีดวัคซีน

การที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 3 ฉากทัศน์การระบาดของโอไมครอนเมื่อวานนี้ นับเป็นการเดินถูกทางแล้ว เพราะเป็นการแจ้งให้ประชาชนรับรู้ว่าโอไมครอนระบาดแน่

แต่กำหนดเป้าหมายการควบคุมการระบาดของประเทศตามฉากทัศน์ที่ 3 โดยพยายามให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดไม่เกิน 13,000 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตสูงสุดไม่เกิน 60 รายต่อวัน ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลของประเทศสามารถรองรับได้

ที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชน ต้องรับรู้ความจริงนี้ และไม่ควรแสดงอาการราวกับว่าเมืองไทยต้องไม่มีผู้ติดเชื้อโอไมครอนแม้แต่รายเดียว และทำท่าตกอกตกใจจนเกินเหตุ เมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอนในจังหวัดต่าง ๆ

LINE ALBUM cell virusโควิดใน ม ๒๑๑๒๒๙

2. ยังสมควรจะตรวจเชิงรุกในคนที่ไม่มีอาการหรือไม่

ด้วยความสามารถของโอไมครอนที่แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ มาก และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ทุกครั้งที่เราพบผู้ติดเชื้อ 1 คนความจริงอาจจะมีคนติดเชื้อไปแล้ว 8 คน และแต่ละคนใน 8 คนนี้ก็อาจจะแพร่ไปแล้วอีก 8 คน (ไม่รู้จบ)

ซึ่งบางรายอาจจะผลตรวจเป็นลบ ทำให้เกิดความมั่นใจผิด ๆ ว่าตนเองไม่ติดเชื้อและไม่ระมัดระวังจนแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ การไล่ตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจึงไม่ค่อยมีประโยชน์ทั้งในด้านการรักษาและการกักตัว ยกเว้นว่าจะสามารถกักตัวผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงได้ทั้งหมดจริง ๆ

สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือ การให้ผู้ที่มีอาการของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทุกคน ไม่ว่าจะรุนแรงหรือเล็กน้อย สามารถเข้าถึงการตรวจได้ทันที และโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะถ้ารู้ว่าติดเชื้อเร็ว ก็สามารถรักษาและกักตัวที่บ้านได้ทันที

3. ยังสมควรจะรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย ที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.หรือไม่

เช่นเดียวกับข้อ 2 จากความสามารถของโอไมครอนที่แพร่ได้เร็ว แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ มักไม่มีอาการหรืออาการน้อย

การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ.อาจไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดอีกต่อไป

จำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักและต้องเข้ารักษาตัวในรพ. รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เพราะจะช่วยบอกว่ากำลังส่งผลกระทบต่อศักยภาพของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศหรือไม่เพียงใด

LINE ALBUM covid Omicron ๒๑๑๒๒๙

4. ยังสมควรจะมีสถานกักตัว หรือรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยอีกหรือไม่

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ควรรักษาและกักตัวที่บ้านมากกว่าเข้าไปรักษาและกักตัวในรพ. ไม่ควรทุ่มเททรัพยากรทั้งคน เงินและสถานที่ไปดูแลผู้ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด

สถานพยาบาลภาครัฐ ควรจะได้รับการปรับปรุงให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาการหนักมากกว่า อีกอย่างคือ ควรทุ่มเทสรรพกำลังไปใช้ในการระดมฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุดดีกว่า

5. ยังสมควรใช้ RT-PCR ในการตรวจคัดกรองหรือไม่

การที่โอไมครอนสามารถแพร่ได้เร็วมาก การคัดกรองด้วย RT-PCR ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและได้ผลช้า อาจจะไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยที่ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย

การใช้ ATK ที่ราคาถูกกว่าและได้ผลทันทีน่าจะคุ้มค่ากว่า ควรเก็บ RT-PCR ไว้ใช้ในการตรวจยืนยันถ้ามีความจำเป็นเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo