COVID-19

ผอ.สถาบันฯสุขภาพ มช. รวม 6 เรื่องต้องรู้ ไวรัสกลายพันธุ์ โอมิครอน พร้อมวิธีป้องกัน

ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. รวม 6 เรื่องควรรู้ ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนน่ากลัวแค่ไหน พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวเอง

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ถึงการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เรื่อง ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนน่ากลัวแค่ไหน? ดังนี้

ไวรัสกลายพันธุ์

1. ทุกครั้งที่มีการค้นพบและประกาศไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ เช่น อัลฟา เดลตา มักจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนั้นไปแล้วไม่น้อย โอมิครอนก็น่าจะเช่นเดียวกัน ถ้ามีการตรวจหาเชื้อชนิดนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าน่าจะพบผู้ติดเชื้อไปหลายประเทศหรือแม้แต่ทั่วโลก

จะเห็นว่าภายในไม่กี่วัน หลังจากการประกาศว่า โอมิครอนเป็นไวรัสเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern-VOC) ก็ค่อย ๆ มีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศ เช่น อิสราเอล เบลเยียม ฮ่องกง สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี และคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

2. ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า โอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้เร็วมากน้อยเท่าไร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเดลตาซึ่งในขณะนี้ ยังถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ได้เร็วที่สุด

ข้อมูลอันจำกัดของการพบเชื้อในทวีปอัฟริกา ซึ่งปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยมาก ยังไม่สามารถพิสูจน์ความจริงข้อนี้ได้ ต้องรอข้อมูลจากหลาย ๆ แห่งที่จะยืนยันความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์โอมิครอน

3. ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า โอมิครอนสามารถก่อโรคที่มีความรุนแรงมากกว่าเดลตา หรือสายพันธุ์อื่น ๆ หรือไม่ถ้า ซึ่งแนวคิดเรื่องความสามารถในการแพร่เชื้อ มักตรงข้ามกับความรุนแรงเป็นจริง

และยิ่งถ้าพบว่าโอมิครอน แพร่ได้เร็วกว่าเดลตา ก็มีความเป็นไปได้ว่า ไม่น่าจะก่อโรคที่มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น โอมิครอน ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลมากกว่าเดลตา ซึ่งเป็นหายนะของชาวโลกมากว่าครึ่งปีแล้ว

4. แม้จะพบว่าจีโนมของโอมิครอน มีการกลายพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วโลก ว่าเชื้อนี้อาจจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนรุ่นเก่าได้ และอาจทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ในโลกได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว

ดร.ขวัญชัย

แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันความเชื่อนี้ เพราะใน 8 ประเทศอัฟริกาที่มีรายงานการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน พบว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำมาก ในรูปประกอบจะเห็นว่าประชาชนในทุกประเทศดังกล่าว ฉีดวัคซีนครบแล้วน้อยกว่า 30% ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยกว่า 2 เท่า

5. จากข้อมูลจริงที่ได้จากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ น่าจะเป็นไปได้ยาก ที่โอมิครอนจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนรุ่นเก่าได้ 100% เช่น เดลตา ที่แม้ว่าจะหลบหลีกได้พอสมควร คือคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่มักจะไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตลดลงมาก โอมิครอนก็น่าจะเป็นไปในทางเดียวกันไม่มากก็น้อย

6. เราควรทำอย่างไร ในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน ของการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

  • เรื่องแรกคือ ต้องตั้งสติให้ดี มองโลกตามความเป็นจริง อย่ากังวลจนเกิดเหตุ
  • คนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนต้องรีบไปฉีดทันที โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือมีโรคเรื้อรัง ซึ่งถ้าติดเชื้อมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง และเสียชีวิตสูง เพราะอย่างน้อยก็น่าจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน ที่จะต่อสู้กับโอมิครอนหรือแม้แต่สายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
  • คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ควรไปฉีดเข็มกระตุ้นทันทีที่มีการประกาศจากภาครัฐ หรือแม้แต่การใช้วัคซีนทางเลือกที่จองไว้เป็นการฉีดกระตุ้น เชื่อว่าจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากจนอาจสามารถต้านเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตได้
  • ที่สำคัญที่สุด และต้องเน้นเสมอคือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ สวมหน้ากากผ้า รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ในทุกสถานการณ์ เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นเชื้อดั้งเดิมหรือเชื้อกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต

หมายเหตุ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวบนพื้นฐานของความรู้เท่าที่มีในปัจจุบันเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากนี้อาจเปลี่ยนแนวคิดได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo