COVID-19

‘หมอขวัญชัย’ อัพเดท 3 ประเด็นสำคัญ สายพันธุ์โอไมครอน มีทั้ง ‘ข่าวร้าย-ข่าวดี’

ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. อัพเดทข้อมูล สายพันธุ์โอไมครอน แพร่เชื้อง่าย ก่อโรคไม่รุนแรง หลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรุ่นเก่าได้ แต่ฉีดวัคซีนแล้ว ช่วยลดความรุนแรง อัตราการเสียชีวิต

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo อัพเดทข้อมูล ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทั้งข่าวร้าย ข่าวดี ดังนี้

สายพันธุ์โอไมครอน

สัปดาห์นี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับโอไมครอนเพิ่มขึ้นบ้าง

นับจากการค้นพบและประกาศว่า โอไมครอน เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลในวันที่ 27 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ตอนนี้ผ่านไป 2 สัปดาห์แล้วลองมา อัพเดท 3 คำถามสำคัญที่เคยคุยไว้กันนิดหน่อยเท่าที่มีข้อมูล

1. โอไมครอน แพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่กำลังแพร่อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

ตอนนี้ข้อมูลจากอัฟริกาใต้ค่อนข้างบ่งชัดแล้วว่า โอไมครอนแพร่ง่ายกว่าทุกสายพันธุ์แน่นอน

ดูจากรูปที่ 1 ที่แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในในอัฟริกาใต้ซึ่งน่าจะเป็นการระบาดของโอไมครอน จะเห็นว่าจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วมากจนถึง 10,000 รายต่อวันภายในเวลาเพียง 10 กว่าวันเท่านั้น

แอฟริกา 3

ในขณะที่ระลอกแรกที่เกิดจากสายพันธุ์ดั้งเดิมใช้เวลาเกือบ 3 เดือน ระลอกที่ 2 ที่เกิดจากสายพันธุ์เบตาใช้เวลาเกือบ 2 เดือน และระลอกที่ 3 ที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตาใช้เวลาราว 1 เดือน

สรุปได้ว่าโอไมครอน น่าจะแพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นราว 2-5 เท่า

2. โอไมครอนก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยลงหรือไม่

แม้จะยังมีข้อมูลไม่มากนัก เพราะการระบาดเพิ่งผ่านไปไม่ถึงเดือน แต่ถ้าดูจากรูปที่ 2 จะเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในอัฟริกาใต้ในระยะที่มีผู้ติดเชื้อขึ้นถึง 10,000 รายต่อวันยังค่อนข้างต่ำ และแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตเพียง 30 รายต่อวันเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ในอัฟริกาใต้ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่ถึง 30%

เสียชีวิต

แต่อาจมีข้อโต้แย้งว่า เป็นเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อายุน้อย เลยมีอาการไม่รุนแรง แต่เมื่อเทียบกับรูปที่ 3 ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในระยะที่มีผู้ติดเชื้อขึ้นถึง 10,000 รายต่อวันเช่นกัน จะเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิน 300 รายต่อวัน

นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้จากผู้ติดเชื้อโอมิครอนกว่า 1,000 รายจาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีนครบแล้ว ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว จึงมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า โอไมครอนน่าจะก่อโรคที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น และอาจจะไม่น่ากลัวเหมือนที่โลกคาดไว้ในตอนแรก

เสียชีวิต เดลตา

3. โอไมครอนหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่

ข้อมูลจนถึงขณะนี้พบว่า

  • โอไมครอนสามารถแพร่ในคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มได้
  • โอไมครอนสามารถติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยเป็นโควิดมาก่อนได้
  • การศึกษาของบริษัทไฟเซอร์ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA ครบ 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อต่ำกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมเกิน 40 เท่า

แสดงว่า โอไมครอน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรุ่นเก่าได้มากพอสมควร อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ถึงจะติดเชื้อก็มักจะไม่รุนแรงและอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก ยิ่งถ้าได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน่าจะยิ่งต้านเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น

จะเห็นว่ามีทั้งข่าวร้ายและข่าวดีเกี่ยวกับโอไมครอน แต่ในภาพรวมก็ยังถือว่าเป็นข่าวดีมากกว่าร้าย

สำหรับพวกเราชาวไทย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับโอไมครอน หรือสายพันธุ์ที่อาจจะเข้ามาในอนาคตโดยการรีบไปฉีดวัคซีนทันที และยังต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ถ้าโอไมครอนและเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต ไม่ก่อโรครุนแรงคือ ไม่ทำให้คนเสียชีวิตจริงๆ เราน่าจะใกล้ถึงจุดที่โควิดจะกลายเป็นโรคไข้หวัดประจำฤดูกาลเข้าไปทุกที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo