COVID-19

‘สธ.-กทม.’ แถลงข่าวสยบรอยร้าว! ยันได้วัคซีนเมื่อไหร่พร้อมฉีดต่อทันที

กทม. – สธ. แถลงข่าวสยบรอยร้าว ยันทุกฝ่ายบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ไม่มีขัดแย้ง ด้าน “ศบค.” กราบขออภัยประชาชนที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ร่วมกันแถลงข่าวประเด็นการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19

โดย พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอยืนยันว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศบค.บูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ทุกส่วนราชการตั้งไจทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ มีประชากรไทยมีทั้งหมด 67 ล้านคน นโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านคน

กทม.

โดยกระทรวงสาธารณสุข มีหลักการว่า การฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะต้องฉีด 70% ซึ่งจะต้องฉีดให้กับประชากรจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านคน เมื่อมีเป้าหมายเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องเตรียมวัคซีนสำหรับประชากร 50 ล้านคน คือ 100 ล้านโดส

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนที่ ศบค. หารือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมาถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการฉีดวัคซีนโดยในเดือนมิถุนายน จะมีการฉีดวัคซีนประมาณ 6 ล้านโดส เดือนถัด ๆ ไป จะฉีดเดือนประมาณเดือนละ 10 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย ทำให้เราสามารถฉีดวัคซีนครบเข็มแรกจากจำนวนประชากร 50 ล้านคน ภายในประมาณเดือนกันยายน หรืออย่างช้าเดือนตุลาคม

“การวางแผนที่ดีที่สุดและไม่เกิดปัญหาเลยคือ เมื่อได้วัคซีนมาแล้วค่อยมาวางแผนฉีด แต่จะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น ศบค. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขวางแผนล่วงหน้า หรือประมาณการว่าวัคซีนนั้นจะเข้ามาอย่างไร ดังนั้น เมื่อเกิดความคาดเคลื่อน กรณีที่วัคซีนไม่เข้ามาตามแผน ก็ต้องมีการปรับแผน” พล.อ.ณัฐพล กล่าว

ดังนั้น การเตรียมการล่วงหน้า การจองเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงทำให้ต้องมีการเลื่อนกันบ้าง ซึ่งต้องกราบขออภัยประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ผมยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดการ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการฉีดบ้าง แต่ก็มีการเตรียมการแก้ปัญหาเมื่อวัคซีนเข้ามา คนที่ถูกเลื่อนออกไปจะได้รับการฉีดในอันดับแรก ๆ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ศบค.ร่วมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงาน และทุกส่วนราชการทั้ง สาธารณสุข มหาดไทย ต่างประเทศ หรือ กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าบูรณาการงานกันอย่างสอดคล้อง การทำงานเป็นไปด้วยดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ปัญหาความไม่เชื่อมั่นของประชาชนกรณีเรื่องวัคซีนการเมืองอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวยืนยันว่า ไม่มีวัคซีนทางการเมืองอย่างแน่นอน ยืนยันว่า ทุกคนทำงานตามกรอบและนโยบาย ศบค.ยืนยันว่า ไม่มีประเด็นดังกล่าวแน่นอน

“ขอยืนยันอีกครั้งว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารสถานการณ์สถานการณ์โควิดมาเป็นเวลากว่า 14 เดือน ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เกิดเป็นคนไทยเ พราะเราได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าคนไทยให้ความร่วมมือกับมาตรการของ ศบค.เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่อาจจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบไปบ้างก็ต้องกราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้” ผอ.ศปก.ศบค. กล่าว

เมื่อถามว่า ปัญหาในเรื่องกระจายวัคซีนเป็นไปได้หรือไม่ที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.จะออกมาชี้แจงด้วยตัวเอง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามย้ำว่า วันนี้ถือว่าสยบข่าวเกาเหลาระหว่างสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครได้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ยิ้มพร้อมกับว่า ก็คุยกันดี

กทม.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

แจงแผนกระจายวัคซีน

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้นำเข้าวัคซีนจำนวน 8.1 ล้านโดส โดยแบ่งเป็น บริษัทแอสตราเซเนกา 2.1 ล้านโดส และบริษัทซิโนแวค 6 ล้านโดส

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 6,188,124 โดส นับถึงวันที่ 13 มิถุนายน โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 1,716,394 โดส คิดเป็น 27.7 % ของวัคซีนที่มีทั้งหมดที่มีอยู่ แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 1,346,993 โดส และเข็มที่สอง 369,401 โดส ทำให้ประชากรในกรุงเทพมหานคร ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 17.5%

สำหรับการจัดสรรวัคซีน เราจะพิจารณาถึงข้อมูลวิชาการ พื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด และแบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัดรวมถึงการคำนึงถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลมากำหนด การจัดการลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย เราจะเน้นที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องดำเนินการในการสอบสวนควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบครบ 100% แล้วนอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. ที่ต้องลงไปในพื้นที่กักกันโรค ก็จะได้รับการฉีดและจัดสรรต่อไป

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน จะมีการกระจายวัคซีน ซึ่งเราวางแผนไว้ อย่างน้อยจะต้องเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกที่เรามีการฉีดตั้งแต่วันที่ 7 – 20 มิถุนายนที่จะถึง จะมีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวก 1 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส ได้จัดส่งไปยังกรุงเทพมหานคร แล้ว 5 แสนโดส ประกอบด้วยแอสตราเซเนกา 3.5 แสนโดส และซิโนแวก 1.5 แสนโดส

นอกจากนี้ ยังได้ส่งไปให้สำนักงานประกันสังคมอีก 3 แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะฉีดในกรุงเทพมหานคร เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีก 1.5 แสนโดส ซึ่งจะฉีดในกรุงเทพมหานคร เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน 76 จังหวัด จะมีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่าง ๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหาร ตำรวจ ที่ต้องดำเนินการในการกักกันผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ และครู อีก 1 แสนโดส

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมวัคซีนไว้สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาด​ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี เป็นต้น เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราได้กระจายไปในงวดแรก ส่วนงวดที่สอง ซึ่งตามกำหนดจะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุด วันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส ก็จะเป็นวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา อีก 1.5 ล้านโดส ซึ่งทั้งหมดที่เราจะกระจาย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน จะต้องรวมได้ประมาณ คือ 6 ล้านโดส

กทม.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

กทม.ยันไม่มีขัดแย้ง

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้รับการอนุเคราะห์จาก สธ. เยอะ ไม่มีความขัดแย้ง รวมทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ก็มาช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม. เพราะหากไม่ได้รับการช่วยเหลือกทม. ฉีดเดือนละ 2,050,000 โดส เป็นเรื่องยากมาก โดยเหตุผลที่ตนให้หมอพร้อมไป 182,000 โดส เพราะลงทะเบียนไปเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อสักครู่ได้เรียนอธิบดีกรมควบคุมโรค ในส่วนวันที่ 15-20 มิถุนายนที่ลงทะเบียนหมอพร้อม ที่ระบุวันเดือนปี ที่ชัดเจนเรียบร้อย มีคนลงทะเบียนหมอพร้อม 140,000 คน และลงทะเบียนกับไทยร่วมใจจำนวน 170,000 คน รวมประมาณ 320,000 คน และยืนยันว่า กทม.ได้รับวัคซีนเมื่อใดก็จะฉีดในวันรุ่งขึ้น และขอย้ำว่า กทม.ไม่ได้เป็นมีความขัดแย้ง มีแต่ สธ. ที่คอยช่วยเหลือกทม.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo