Politics

www.เยียวยาเกษตรกร.com เริ่มโอนเงินแล้ว! เช็คที่นี่ได้รับเงิน 5 พันหรือไม่

“ธ.ก.ส.” เริ่มโอนเงิน “เยียวยาเกษตรกร” ให้เกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้รับสิทธิ์ทั้ง 6.77 ล้านคนแล้ว โดยจะโอนเงินให้วันละ 1 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com เพื่อรับแจ้งข้อมูลบัญชีเงินฝากของเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. แจ้งโอนเงินเยียวยาเกษตรกรเข้าบัญชีธนาคารอื่น ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของ “โควิด” หรือมาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563นั้น

เยียวยาเกษตรกร8563

ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ค.) ธ.ก.ส. ได้เริ่มการโอนเงิน “เยียวยาเกษตรกร” วันแรกแล้ว โดยเกษตรกรกลุ่มแรกที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยาล่าสุดมีจำนวน 6.77 ล้านคน จากข้อมูลเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนทั้งหมด 8.3 ล้านคน ปรากฏว่า มีจำนวน 1.5 ล้านคนที่ตรวจสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท “เราไม่ทิ้งกัน” ไปแล้ว หรือบางคนเป็นข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะโอนเงิน “เยียวยาเกษตรกร” ให้เกษตรกรกลุ่มแรกวันละ 1 ล้านราย โดยเริ่มวันนี้ (15 พ.ค.) เป็นวันแรก เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาไม่ต้องเดินทางไปรับเงินที่ ธ.ก.ส. เพราะธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com จากนั้นให้คลิกที่ปุ่มสีเหลือง “ตรวจสอบผลการโอนเงิน” ได้ตั้งแต่วันนี้ (15 พ.ค.) เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป

คลิกที่นี่ ตรวจสอบผลการโอนเงิน

นอกจากจะตรวจสอบผลการโอนเงินผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com แล้ว ยังสามารถตรวจสอบเช็คผลการโอนเงินได้จากช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม ดังนี้
1. ตู้ปรับสมุดหน้าธนาคาร ธ.ก.ส.
2. สามารถใช้บัตร ATM ของ ธ.ก.ส. และของธนาคารอื่นๆ ถอนเงินจากตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร
3. ตรวจสอบจาก Application A-Mobile

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากสาเหตุต่างๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์รับเรื่องอุทธรณ์” เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร โดยรายละเอียดแนวทางการรับอุทธรณ์ รวมทั้งมาตรการรองรับต่างๆ จะประกาศให้เกษตรกรรับทราบอีกครั้ง

Avatar photo