นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กอปภ.ก. ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่
พบว่า สถานการณ์น้ำท่าหลายจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 5 – 8 สิงหาคม 2561 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคมีฝนตกเพิ่มขึ้น และอาจมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 4 เมตร
ดังนั้น บก.ปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย รวม 47 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง
โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนัก
ตลอดจนกำชับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานและเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลัง เครื่องจักรกลสาธารณภัย และจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชม.
หากสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนด
กรณีเกิดฝนตกหนักในพื้นที่เสียงภัยดินโคลนถล่มให้แจ้งเตือนประชาชนทราบถึงความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และชี้แจงถึงความจำเป็นในการต้องอพยพประชาชนไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพที่จังหวัดสามารถรับมือสถานการณ์ภัยได้ให้แจ้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อประสานให้การช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน
สำหรับพื้นที่เสียงคลื่นลมแรง ให้ประสานหน่วยงานเจ้าท่าประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและงดการเดินเรือ หากทะเลมีคลื่นสูงและกำลังแรง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัย ก่อนออกเรือทุกครั้ง
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด