Politics

ลุ้นระทึก! ‘ยุติธรรม’ ยันหาก ‘ทักษิณ’ ได้พักโทษจริง ราชทัณฑ์ต้องปล่อยตัวทันที

ลุ้นระทึก! “ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม” ยันหาก “ทักษิณ” ได้พักโทษจริง ราชทัณฑ์ต้องปล่อยตัวทันที ส่วนการอายัดตัวคดี ม.112 เป็นอำนาจของอัยการ

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังการรับหนังสือคัดค้านการพักการลงโทษกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เบื้องต้นเรายังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นการให้สิทธิ ดังนั้น ทุกคนจะรู้ดีว่าครบ 6 เดือน ถ้าวันไหนก็วันนั้น และถ้าถึงเวลาแล้วท่านทักษิณมีรายชื่อได้รับการพักโทษก็ได้รับสิทธิ์

ทักษิณ

ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิ

อย่างไรก็ตาม รายชื่อของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการจะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่โดยธรรมเนียมแล้วเราจะไม่บอกก่อน เพราะมันเป็นการละเมิด และถึงเสนอมาบางรายก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ การเปิดเผยไปก่อนก็อาจมีผลกระทบได้ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยแถลง แต่จะปรากฏก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และเเม้ว่าในวันที่จะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เราก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิที่เขาได้รับ

“หลังเที่ยงคืนวันที่จะได้พักโทษ มันก็ถึงวันของเขา ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวผู้ต้องขังอยู่ต่อ แต่การที่จะอยู่ต่อมันก็เป็นการอะลุ่มอะล่วยกันว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะค่อยปล่อยตัวได้ ผมจึงยังตอบไม่ได้ว่าเที่ยงคืนของวันพักโทษของผู้ต้องขังจะได้ออกเลยหรือไม่ เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละราย” นายสมบูรณ์ กล่าว

สำหรับการพักโทษ ปกติคณะอนุกรรมการฯ จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว และจะมีรายชื่อจากเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์ ถูกเสนอขึ้นมายังชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกว่า 1,000 รายชื่อในทุกเดือนให้พิจารณา แต่มากที่สุดคือการพักโทษแบบปกติ ประมาณ 500-800 ราย แต่การพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ จะมีทั้งการเจ็บป่วย อายุมากกว่า 70 ปี หรือเข้าโครงการฝึกฝนทักษะอาชีพ กลุ่มเหล่านี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพักโทษกรณีปกติ แต่ทั้ง 2 กลุ่มรวม ๆ แล้วก็เกือบ 1,000 รายทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาเห็นชอบทุกรายให้ได้รับการพักโทษ เพราะตัวแทนจาก 19 หน่วยงาน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ทักษิณ

 

เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ

สำหรับเรื่องของการอายัดตัวนายทักษิณ จากคดี ม.112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. และอัยการสูงสุดนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะต้องพิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะอายัดตัวได้หรือไม่นั้นอยู่ที่พนักงานอัยการ ส่วนขั้นตอนในปัจจุบัน ต้องเรียนว่ายังอยู่ในกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องหารือกับอัยการว่าถ้ามีชื่อนายทักษิณได้รับการพักโทษจริง ๆ วันนั้นขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แต่ความเห็นหลักและการตัดสินใจจะเป็นของอัยการโดยที่กรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย

ส่วนเรื่องของการติดหรือไม่ติดกำไล EM ของนายทักษิณ หากได้รับการพักโทษนั้น ขอชี้แจงถึงมติของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 คนเจ็บป่วยหรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมหรือติดกำไล EM อีกทั้งในกระบวนการของการพักโทษ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร เพราะกรมราชทัณฑ์มีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

“ยืนยันว่าถ้าผู้ต้องขังรายใดที่อายุมากกว่า 70 ปี และเจ็บป่วย มีเหตุร้ายแรงจะไม่มีรายใดที่ได้ติดกำไล EM เพราะถ้าต้องติดกำไล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องติดคุก เพราะทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์” นายสมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายสมบูรณ์ ยังกล่าวปิดท้ายว่า กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถปฏิบัตินอกเหนือจากแนวคนอื่นได้ เช่น ให้สัมภาษณ์ว่านายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ อย่างไร เพราะเราต้องรักษาสิทธิ์ของแต่ละคน เพราะไม่ได้มีเพียงคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อให้คณะอนุกรรมการฯ พักการลงโทษ แต่มันก็มีคนที่อาจไม่ได้รับการพักโทษ เราจึงต้องสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เอ่ยรายชื่อบุคคลใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK