Politics

ส่อชะตาขาด! ‘ธีรยุทธ’ ร้องกกต.ส่งศาล ‘ยุบก้าวไกล’

ส่อชะตาขาด! “ธีรยุทธ” ร้องกกต.ส่งศาล “ยุบก้าวไกล” เล็ง 2 กุมภาพันธ์ ยื่นป.ป.ช.ฟันจริยธรรมร้ายแรง

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ เดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกกต. เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2566)

ก้าวไกล

นายธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง คือ นายพิทาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลนี้มีผลผูกพันกกต.ด้วย ดังนั้นเนื่องจากตนเป็นคนหลักที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว จึงมองว่าเป็นเรื่องผูกพันที่ตนจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญจึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อกกต.พร้อมเอกสารกว่า 100 หน้า มายื่นต่อกกต. เพื่อบังคับการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อ คณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยอนุ 1 กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นตนเห็นว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุคพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1

เมื่อถามความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา นายธีรยุทธ กล่าวว่า กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัย ออกมาเมื่อวานนี้ตนเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำ ของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเอง

เมื่อถามว่า มีการมองว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายธีรยุทธจะเป็นตัวเปิดเส้นทางให้มีการยื่นคำร้องให้ในการยุบพรรคก้าวไกล เดิมทีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยุบ หรือแค่ต้องการให้ยุติการกระทำ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เบื้องต้นตนที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลโดยคิดว่าขอให้ศาลท่านโปรดเมตตาพิจารณาสั่งการเพื่อให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนได้นั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียดเห็นว่า เมื่อศาลได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้ว ในขณะที่เราอยู่ในฐานะผู้ร้องก็เห็นว่า มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยตรง กระบวนการต่อไปก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่วินิจฉัยนั้น จึงทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าผู้ใดทราบเหตุก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตนจึงได้เดินทางมายื่นต่อกกต.ในวันนี้

เมื่อถามว่า ในอนาคตหากกกต.มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลใจ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมาเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกล หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทยซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว  ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง

เมื่อถามว่า มีนักวิชาการบางคนมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อีกทั้งในและนอกสภา นายธีรยุทธ กล่าวว่า แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ตนก็ได้แต่บอกว่าขอให้กลับไปฟังให้หลายๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายห้วงก่อนจะจบ ท่านวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบ คือต้องเป็นฉันทามติเลยอย่างแรก แต่คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น อย่างอื่นอันมีนัยยะสำคัญ ซึ่งประชาชน โดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบถึง

นายธีรยุทธ ระบุว่า เพราะฉะนั้นตนคิดว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหลักนิติ อีกทั้งก่อนจะทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ทราบจากเนื้อหาคำวินิจฉัยว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของตนโดยใช้เวลาถึง 62 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเห็นว่า มีการพิจารณาโดยละเอียดรอบด้านมีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือศาลยุติธรรมก็ส่งเข้ามา และศาลท่านก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยละเอียด

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 . ผมจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44  คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่า จะเหมือนกับกรณีของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานนายธีรยุทธ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo