COVID-19

‘หมอธีระ’ เตือน! ‘โควิด-19’ ระลอกนี้เยอะ ชี้ ติดเชื้อต้องแยกตัว14 วัน ถึงปลอดภัย

“หมอธีระ” เตือนล่าสุด โควิด-19 ระลอกล่าสุด ยังระบาดเยอะมาก ชี้ ติดเชื้อต้องแยกตัว 14 วัน ถึงจะปลอดภัยแน่นอน แค่ 5 วัน ยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้สูงสุด 75%

วันนี้ (29 เม.ย.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด โดยระบุว่า

โควิด-19

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 48,566 คน ตายเพิ่ม 277 คน รวมแล้วติดไป 686,948,662 คน เสียชีวิตรวม 6,863,065 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส และเวียดนาม

เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.66

อัพเดต XBB.1.16.x

ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) ชี้ให้เห็นว่า XBB.1.16.x แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยตรวจพบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มเป็น 43 ประเทศแล้ว

ทั้งนี้ XBB.1.16.1 จะพบมากในสวีเดน ในขณะที่ XBB.1.16.2 เด่นในแคนาดา ส่วนในแถบประเทศไทย และเพื่อนบ้าน พบว่า XBB.1.16 ยังครองสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ XBB.1.16.1

โควิด-19

สัดส่วนของสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา

ข้อมูลจาก US CDC ที่ทำการคาดการณ์จนถึง 29 เมษายน 2566 พบว่า XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนหลัก 68.8% ในขณะที่ XBB.1.16 นั้นมีสัดส่วนสูงขึ้นชัดเจน 11.7% ซึ่งเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วนราว 7.4% โดยเบียดแซง XBB.1.19.x ขึ้นมาเป็นอันดับสองได้แล้ว

ผู้ป่วย Long COVID มีลักษณะระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นต่อเนื่อง

Joung S และคณะ จาก Cedars-Sinai Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ BMC Infectious Diseases เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยศึกษาลักษณะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หลังได้รับวัคซีนของผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ติดแล้วหาย และติดแล้วเกิดภาวะ PASC (Long COVID) เปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อ

สาระสำคัญคือ กลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น มีลักษณะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแตกต่างไปจากกลุ่มที่ไม่เป็น Long COVID และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้ออย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นว่า กลุ่ม Long COVID มีลักษณะที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง (persistent immune activation)

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับสมมติฐานก่อนหน้านี้ ที่มีการอธิบายกลไกการเกิดอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของผู้ป่วย Long COVID ว่าน่าจะมาจากการติดเชื้อแบบเรื้อรัง หรือการคงค้างของชิ้นส่วนไวรัสในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการอักเสบ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา

โควิด-19

ถ้อยแถลงของผอ.องค์การอนามัยโลก

เมื่อ 26 เมษายน 2566 Dr.Tedros ผู้อำนวยการของ WHO ได้แถลงโดยมีสาระสำคัญดังนี้

“An estimated one in 10 infections results in post-Covid conditions suggesting that hundreds of millions of people will need longer term care”  คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะ Long COVID ราว 1 ใน 10 ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งแปลว่าจะมีคนจำนวนมากทั่วโลกหลายร้อยล้านคนที่จะต้องการการดูแลระยะยาว

นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่จบแค่ชิล ๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตในระยะยาวอีกด้วย

ไทยเราตอนนี้มีคนติดเชื้อกันจำนวนมาก พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ใช่การระบาดตามฤดูกาล ตามความเชื่องมงายที่ยังไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการปะทุรุนแรงจากพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ที่เพิ่มขึ้นหลังมีการใช้ชีวิตโดยไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ

ควรเลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นมีความสำคัญมาก จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ย้ำเตือนดังๆ อีกครั้งว่า ระลอกนี้เยอะมากนะครับ

ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้น จึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน

โควิด-19
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากติดเชื้อ และแยกตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75% 

7 วัน 25-30%

10 วัน 10%

14 วัน ก็จะปลอดภัย

แต่หากไม่แยกตัว หรือแยกตัวระยะสั้น ไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเอง ให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo