Politics

‘นายกฯ’ ร่ายยาวแจงสาเหตุทำไมค่าไฟแพง! พร้อมอัดงบ 1.1. หมื่นล้านแก้ปัญหา!

“นายกรัฐมนตรี” ร่ายยาวแจงสาเหตุทำไมค่าไฟแพง! ยันเตรียมมาตรการลดผลกระทบแล้ว ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย กว่า 80% พร้อมอัดงบ 11,000 ล้านบาทแก้ปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ การประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (25 เม.ย.66) ได้ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงฤดูร้อนปีนี้ เพื่อหารือแนวทางการลดผลกระทบให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สรุปเป็นมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน ได้ดังนี้

ค่าไฟแพง

1. ประเด็น “ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น” มีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก

  • ในช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศ สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายร้อนสูงขึ้น ติดต่อกันหลายวัน
  • ประเทศไทยนำเข้าเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติจากต่างประเทศ มาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศ ขึ้น-ลงตามราคาพลังงานโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (ที่มีความผันผวน) ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมแนวทางลดผลกระทบ-ค่าครองชีพให้กับภาคครัวเรือน ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัย-ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย กว่า 80% ดังนี้

  1. มาตรการต่อเนื่อง จากช่วงมกราคม-เมษายน 2566 ได้แก่ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟ “ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน” กว่า 18 ล้านครัวเรือน เป็นเวลา 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.66) ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จากวิกฤตพลังงาน ที่เป็นผลมาจากสงครามในทวีปยุโรป
  2. มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า “เพิ่มเติม” 150 บาทต่อราย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟ “ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน” กว่า 21 ล้านครัวเรือน ในรอบบิล พ.ค.66 หรือค่าไฟฟ้าในเดือน เม.ย.นี้ ที่เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุด และมีการใช้ปริมาณไฟฟ้าแต่ละครัวเรือนสูงขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนช่วงพฤษภาคม

ค่าไฟแพง

ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะใช้งบประมาณราว 11,000 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยรัฐบาลเห็นว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้างในปัจจุบัน เป็นเหตุผลความจำเป็นที่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่รัฐบาลจะนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามกฎหมาย และมีผลในทางปฏิบัติต่อไป

2. ประเด็น “พลังงานไฟฟ้าสำรอง” และ “ค่าพร้อมจ่าย” มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่ในสังคม ได้แก่

  • การสำรองไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นผลมาจากสมมติฐาน-ประมาณการ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในช่วงปี 55 นำมาสู่การทำแผนด้านพลังงาน และสัญญาข้อผูกพันกับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า ที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการดำเนินการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แม้ช่วงโควิดจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงกว่าแผน แต่เมื่อฟื้นตัวจากสถานการณ์และวิกฤตต่างๆ แล้ว ส่งผลดีต่อกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ให้กลับเข้าสู่แผนและเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
  • ล่าสุดรัฐบาลนี้ ได้มีการปรับแผนด้านพลังงาน ที่มุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด-สีเขียว ที่มีราคาไม่แพง และมีกำลังการผลิตสำรองที่เข้าสู่กรอบมาตรฐาน (15-20%) ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก และนโยบายของรัฐบาล เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG, การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต-ใช้-ส่งออกยานยนต์ EV, การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ตลอดจนการเก็บคาร์บอนเครดิตของธุรกิจ/โรงงานอุตสาหกรรมของไทย สำหรับลดภาษีก๊าซเรือนกระจก หรือ “ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) ในการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ รวมทั้งลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง
  • การอนุมัติไฟฟ้าของรัฐบาลปัจจุบันกว่า 90% เป็นพลังงานสะอาดทั้งสิ้น มาทดแทนโรงไฟฟ้าจากฟอสซิล ที่จะทยอยปลดระวาง-หมดอายุสัญญาลง และสนองความต้องการพลังงานสะอาดของกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีเงื่อนไขการผลิตสินค้า เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะทยอยมีผลและพร้อมส่งไฟเข้าระบบ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกจากไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” แล้ว ยังจะมีราคาไฟฟ้าที่ถูกกว่าการรับซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านมาอีกด้วย โดยในอนาคตหากมีกำไรจากการขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดนี้ ในอัตราพิเศษให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจสีเขียว ก็จะนำกลับมาลดค่าไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนได้มากขึ้น

ค่าไฟแพง

ทั้งหมดนี้ เป็นวิสัยทัศน์-นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากการใช้ “พลังงานฟอสซิล” สู่ “พลังงานสีเขียว-สะอาด” โดยจะมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เอง ในภาคครัวเรือน และขายต่อเข้าสู่ระบบได้ด้วย รวมทั้งสร้างความพร้อมให้แก่อุตสาหกรรมไทย ตอบโจทย์กระแสโลก และ ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศที่ต้องการพลังงานสีเขียว-สะอาด ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ดิจิทัลเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่ของโลก เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย รองรับนโยบาย EV และอุตสาหกรรมดิจิทัล ก็จะเป็นโอกาสให้เกิดการวิจัยพัฒนาร่วมกันและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการผลักดันโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยให้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ย่ำอยู่กับที่ พร้อมสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่มีทักษะและคุณภาพสูง ให้แก่คนรุ่นใหม่ของประเทศไทยมากขึ้นด้วย

โดยการดำเนินการข้างต้น ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน รัฐบาลได้ยึดทิศทางการพัฒนาของโลก และหลักกฎหมาย-หลักการสากลเป็นที่ตั้ง โดยล้วนต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจ ซึ่งจะผลิดอกออกผล สร้างผลประโยชน์แก่คนไทยทุกภาคส่วนในอนาคตอันใกล้ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK