General

สภาเภสัชกรรม ประกาศจุดยืนร่วม 8 เครือข่าย ร้านยาต้องมีเภสัชกรตลอดเวลาเปิดบริการ

สภาเภสัชกรรม รวมพลัง 8 เครือข่ายวิชาชีพ ประกาศจุดยืน การมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

เพจสภาเภสัชกรรม โพสต์การประกาศจุดยืนของ สภาเภสัชกรรม และองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย ร่วมด้วย 8 เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม ยืนยันการให้บริการผู้ป่วยและประชาชนในร้านยาจำเป็นต้องมีเภสัชกรปฏิบัติการที่ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ

สภาเภสัชกรรม

ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ โฆษกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากกฎหมายว่าด้วยยาเกี่ยวกับเรื่องวิธีปฏิบัติเภสัชกรรมชุมชน หรือ Good Pharmacy Practice (GPP) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการปฎิบัติหน้าที่ที่ดีในร้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เป็นกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติงานของเภสัชกร และกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับในอีกไม่นานนี้ หลังจากที่ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการร้านยารายเก่ามาแล้ว 8 ปี

ทั้งนี้ การมีเภสัชกรปฎิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตลอดเวลาเปิดทำการ มีการกล่าวถึง พ.ร.บ. ยา ตั้งแต่ ปี 2510 แล้ว ได้มีการผ่อนผันและสิ้นสุดลงในปี 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปีด้วยกัน ที่กฎหมายมีผลบังคับให้เภสัชกรเข้ามาปฏิบัติงานในร้านขายยาเพื่อความปลอดภัยของยากับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาบังคับใช้กฎหมาย GPP กลับมีผู้ประกอบการบางกลุ่ม เรียกร้องอยากขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีก ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาให้สภาเภสัชกรรมร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ประกอบด้วยศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน และองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม 8 องค์กร มาร่วมกันแถลงจุดยืนของวิชาชีพต่อกรณีการมีเภสัชกรในร้านยา

เภสัช

ทั้งนี้ มีจุดยืนหลักๆอยู่ 3 ประการคือ

1. ความปลอดภัยด้านยา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับจากการบริการในร้านยา

2. การปฎิบัติหน้าที่ของเภสัชกรตลอดเวลาเปิดทำการ ต้องเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน

3. การปฏิบัติตามมาตรฐาน GPP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับและต้องไม่ยืดระยะเวลารการบังคับใช้ออกไป

ขณะที่ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ตามมาตรฐานของวิชาชีพเภสัชกรรมในการจ่ายยา ขายยา เภสัชกรจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ยา ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และข้อควรระวังต่างๆรวมถึงติดตามปัญหาการใช้ยา

ดังนั้น ร้านยาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้มารับบริการซึ่งถือว่าเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนจะต้องได้รับ

เภสัช1

ด้าน รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเภสัชศาสตร์ ทั้ง 19 สถาบันการศึกษาของประเทศไทย ขอยืนยันว่าการปฎิบัติหน้าที่เภสัชกรในร้านยาตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ ถือว่าเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชนไทย

ทั้งนี้ เพราะว่าเภสัชกรที่ได้ผ่านการเรียนการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นตลอดเวลา 6 ปีตามเกณฑ์หลักสูตรเภสัชศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับสากลเภสัชกรเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในเรื่องของการดูแลการใช้ยาอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน

ยา มีทั้งคุณและโทษหากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้องใช้แบบขาดความเข้าใจก็จะทำให้เกิดโทษได้

ดังนั้น การใช้ยาจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ ต้องเข้าใจทั้งเรื่องยาและเรื่องโรคอย่างลึกซึ้ง เภสัชกรจึงเป็นผู้ที่ควรปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาเต็มเวลาตามที่เปิดให้บริการ จึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าการที่ประชาชนเข้าไปรับบริการในร้านยาถึงจะปลอดภัยอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo