General

แย่แล้ว!! ปอดเด็กในท้องแม่ มีฝุ่นละอองจิ๋วที่เป็นมลพิษได้ ตั้งแต่ยังไม่คลอด

“หมอเฉลิมชัย” เผยผลวิจัยน่ากังวล ตรวจพบฝุ่นละอองจิ๋วที่เป็นมลพิษ ในปอดเด็กตั้งแต่ยังไม่คลอด ผ่านจากรกแม่สู่ทารกในครรภ์

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง น่าตกใจ!! ปอดเด็กในท้องแม่ มีฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษได้ ตั้งแต่ยังไม่ได้คลอดออกมา โดยระบุว่า

ปอดเด็ก

ปัญหามลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป

โดยเฉพาะหลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เรื่องการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

จนปัจจุบัน ปัญหาพีเอ็ม 2.5 เป็นปัญหาใหญ่มาก และไปไกลถึงปัญหาที่จะทำให้มนุษย์มีผลกระทบสุขภาพที่เรื้อรังและยาวนานต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (Nanoparticle) ที่เรียกว่า แบลคคาร์บอน BC : Black Carbon ซึ่งเป็นอนุภาคระดับนาโนนั้น ยังไม่สามารถเข้าไปถึงตัวอ่อนในท้องของแม่ได้ แต่สามารถผ่านคุณแม่ไปถึงรก (Placenta) ที่อยู่ในมดลูกได้แล้ว

ล่าสุด นักวิจัยจากสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน (University of Aberdeen) และนักวิจัยของเบลเยียม Hasselt University ได้ทำการศึกษา และลงตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Planetary Health

ปอดเด็ก

พบว่า มีผลการศึกษาที่น่าตื่นเต้น หรือควรจะเรียกว่าน่าเป็นห่วงกังวลมากกว่า คือเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ที่สามารถตรวจพบสารแบลคคาร์บอน หรือ BC ซึ่งเป็นอนุภาคจิ๋วที่มาจากมลพิษในอากาศ ผ่านคุณแม่เข้าสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้

โดยพบทั้งในปอด ซึ่งยังไม่ได้เริ่มทำงานหรือหายใจเลย พบในตับ และในสมองด้วย

อนุภาค BC นั้นเป็นอนุภาคจิ๋ว ซึ่งถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) จากโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน และแหล่งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานฟอสซิล (Fossil Fuel)

งานวิจัยดังกล่าว ยังไม่สามารถอธิบายกลไกที่ชัดเจนว่า อนุภาคจิ๋วมลพิษดังกล่าว สามารถเข้าสู่อวัยวะภายในของตัวอ่อนได้อย่างไร

แต่พบว่าปริมาณของอนุภาคมลพิษจิ๋วในปอดของตัวอ่อนนั้น มีความสัมพันธ์กับปริมาณของอนุภาคมลพิษจิ๋ว ที่แม่ได้รับจากสภาวะมลพิษของอากาศภายนอก

เฃนพ.เฉลิมชัย

ที่น่าตกใจก็เพราะว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชื่อกันมาโดยตลอดว่ารกของแม่ นอกจากจะส่งอาหารให้กับตัวอ่อนในมดลูกแล้ว ยังเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ตามธรรมชาติที่สามารถคัดกรองหรือดักสกัดสิ่งที่เป็นอันตรายกับตัวอ่อนไว้ ไม่ให้ผ่านเข้าสู่ตัวอ่อนโดยตรง จะส่งไปเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์ คือ อาหารและเกลือแร่ต่าง ๆ เท่านั้น

การค้นพบครั้งนี้ จึงทำให้วงการแพทย์ตกใจและหวั่นไหวว่า รกซึ่งเคยเป็นอวัยวะที่คัดกรองสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีนั้น ไม่สามารถสกัดกั้นอนุภาคมลพิษจิ๋วดังกล่าวได้

ก็น่าจะเกิดจากอนุภาคมลพิษจิ๋วดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้รกที่ธรรมชาติได้เตรียมหน้าที่ไว้คัดกรอง ไม่สามารถทำหน้าที่ดักจับอนุภาคจิ๋วได้ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงเกินความสามารถของรกที่จะสกัดกั้นไว้ได้

ผลการค้นพบดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวงต่อไป เพราะการค้นพบดังกล่าวนั้น พบในตัวอ่อนอายุสามเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเกิดออกมาแล้วพิการ แท้ง ตายคลอด คลอดก่อนกำหนด หรือไม่ก็ต้องเกิดมาเป็นเด็กน้ำหนักตัวน้อย

ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสมองของตัวอ่อนในท้องแม่ เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วมีชีวิตอยู่ได้ ก็ยังไม่ทราบว่า จะมีผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ในอนาคตมากน้อยอย่างไร

คนรุ่นใหม่ที่เกิดมา โดยมีมลพิษเข้าไปอยู่ในสมองตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จะเป็นคนแบบไหน มีนิสัยใจคอ อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม ความรู้ความสามารถ การใช้ชีวิต ตลอดจนสุขภาพกายและจิตเป็นอย่างไร

คงจะต้องติดตามผลการศึกษากันต่อไป ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo