General

ป้องกันตัวเองจากฝีดาษลิง ‘หมอเฉลิมชัย’ แนะ ‘7 หลีกเลี่ยง 2 ควรทำ’

“หมอเฉลิมชัย” แนะวิธีป้องกันตัวเองจากฝีดาษลิง ด้วย 7 หลีกเลี่ยง 2 ควรทำ หลัง องค์การอนามัยโลก ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง ป้องกันตัวเองจากฝีดาษลิง ด้วย 7 หลีกเลี่ยง 2 ควรทำ โดยระบุว่า

ป้องกันตัวเองจากฝีดาษลิง

จากสถานการณ์การระบาด (Outbreak) ของฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) ไปแล้วนั้น

เนื่องจากฝีดาษลิง ได้เริ่มต้นการระบาดระลอกใหม่ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน นับได้ประมาณ 2 เดือนเศษ มีการแพร่ระบาดไปแล้วมากถึง 75 ประเทศ ผู้ติดเชื้อมากกว่า 16,000 ราย

ที่สำคัญ คือ ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติเดินทางไปทวีปแอฟริกา จึงเป็นการแพร่ระบาดที่ออกนอกเขตโรคประจำถิ่น(Endemic) ในทวีปแอฟริกาแล้ว

ตลอดจนประเทศไทย ได้มีการวินิจฉัยยืนยันผู้ติดฝีดาษลิงรายแรกที่ภูเก็ต จึงทำให้สาธารณะสนใจว่า ฝีดาษลิงจะต้องดูแลตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ

เราจะมาสรุปมาตรการที่ทำได้ง่าย ๆ 9 มาตรการ เป็น 7 หลีกเลี่ยง และ 2 ควรทำ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่ให้บริการทางเพศ

เหตุผล เนื่องจากพบว่าผู้ติดเชื้อกว่า 90% ล้วนแต่มีประวัติเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นฝีดาษลิง

2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการมีคู่นอนหลายคนที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง

เหตุผล ผู้ติดเชื้อที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์นั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากการซื้อบริการเท่านั้น สามารถติดต่อได้ในรายที่มีความสัมพันธ์แบบสมัครใจ โดยไม่ใช่การขายบริการทางเพศ

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ชัดเจนว่า มีผื่นตุ่มแดง หรือตุ่มหนอง

เหตุผล ตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง เป็นตำแหน่งที่มีไวรัสจำนวนมาก ติดต่อได้ง่าย

หมอเฉลิมชัย
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เช่น การจับมือ การสวมกอด การหอมแก้ม แม้จะไม่ปรากฏว่ามีผื่นหรือตุ่มให้สังเกตเห็น

เหตุผล แม้จะไม่ได้สัมผัสตุ่มโดยตรง แต่ถ้าผู้ป่วยฝีดาษลิงนำมือไปสมบัติตุ่มของตนเอง แล้วมาสัมผัสบุคคลอื่น ก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้

5. หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าข้าวของต่าง ๆ ร่วมกับบุคคลอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน แก้วน้ำ ช้อนส้อม

เหตุผล เชื้อไวรัสจากผู้ป่วย สามารถมาอยู่ที่ข้าวของต่างๆดังกล่าวได้ และในระยะหลัง พบว่ามีตุ่มหนองตุ่มน้ำใสบริเวณปากมากขึ้น จึงต้องระวังเรื่องแก้วน้ำและช้อนส้อมด้วย

6. หลีกเลี่ยงการที่ นำมือมาแคะจมูก ขยี้ตา หรือเข้าปาก

เหตุผล ไวรัสที่ติดมือเรามา สามารถ ผ่านเยื่อบุที่บอบบางดังกล่าวได้

7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น หนู กระต่าย เป็นต้น

เหตุผล สัตว์ดังกล่าวเป็นพาหะหรือเป็นแหล่งของไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง

8. หมั่นล้างมือบ่อยบ่อย

เหตุผล การล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้

9. ควรใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่เสี่ยงและใกล้ชิดกับคนเป็นจำนวนมาก

เหตุผล เชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงสามารถแพร่ผ่านฝอยละอองขนาดใหญ่ (Droplets) เช่น น้ำมูกหรือเสมหะที่เกิดจากการไอจามออกมาโดยตรง

หมอเฉลิมชัย

อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิงยังไม่น่ากังวลมากเท่ากับโรคโควิด-19 เพราะ

1. ฝีดาษลิงติดต่อกันยากกว่าโควิด-19 เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานการแพร่เชื้อทางฝอยละอองขนาดเล็กทางอากาศ(Aerosal) เหมือนโควิด-19

2. มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันได้แล้ว คือใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษซึ่งมีประสิทธิผลสูง 85% และผู้ที่เคยปลูกฝีมาแล้วในอดีต ยังสามารถป้องกันได้อยู่

3. แม้ยังไม่มียาต้านไวรัส (Antiviral Drug) โดยตรง แต่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสในกลุ่มใกล้เคียงกัน

4. ฝีดาษลิงมีอัตราการเสียชีวิตไม่มากนักคือ 1-10% เมื่อเทียบกับฝีดาษคนที่เสียชีวิต 30%
แต่ก็มากกว่าไวรัสโอมิครอนที่ก่อโรคโควิดที่เสียชีวิตเพียง 0.1%

การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเพียงพอ จะทำให้ไม่ตื่นตระหนก และไม่ประมาทเกินเหตุ โดยการดูแลง่าย ๆ 9 มาตรการดังกล่าวข้างต้น เป็นการป้องกันตัวเองจากฝีดาษลิง ทุกคนก็จะปลอดภัยจากการติดฝีดาษลิงได้

หมายเหตุ: หลายมาตรการเป็นสิ่งที่ทำเพื่อป้องกัน โควิด-19 อยู่แล้ว เช่น การล้างมือบ่อยบ่อย การใส่หน้ากากอนามัย การไม่นำมือมาสัมผัสกับเยื่อบุที่บอบบาง เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo