Politics

ยุ่งแล้ว!! ‘โควิด’ ขาขึ้น กำลังเข้าสู่ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ – เตือนพีคหนักช่วงก.ย.นี้

กรมควบคุมโรค ส่งสัญญาณเตือน โควิด ขาขึ้น กำลังเข้าสู่ “อาฟเตอร์ช็อก” ระบุพีคหนักช่วง ก.ย.นี้ ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลวันละถึง 4 พันราย เตือนอย่าเพิ่งผ่อนคลายหน้ากาก ห่วงกลุ่มเสี่ยง 608

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาระบาดหนักในช่วงนี้สถานการณ์ทั่วโลกก็เพิ่มขึ้น วานนี้ (4 ก.ค.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกหลายประเทศพบรายงานเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย บางประเทศรายงานเสียชีวิตต่อเนื่อง

ส่วนสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.4 และ BA.5 พบเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น BA.4 แอฟริกาใต้ พบ 64% ส่วน BA.5 อังกฤษ พบ 28% ,อเมริกา 25% ,ฝรั่งเศส 22% ,ออสเตรเลีย 21% และประเทศไทย 20% ใกล้เคียงกับทั่วโลก เพราะมีการผ่อนคลาย มีผู้เดินทางเข้ามา อาจพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความครอบคลุมวัคซีนสูง ทำให้การเสียชีวิตน้อย เช่น อังกฤษ ครอบคลุม 73%, อเมริกา 67%, ฝรั่งเศส 78% ,ออสเตรเลีย 84% การเสียชีวิตน้อย แต่แอฟริกาใต้ครอบคลุม 32% ทำให้มีผู้เสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทยวันนี้ผู้ป่วยปอดอักเสบพบ 677 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 630 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย ยังไม่เพิ่มขึ้น ยังทรงตัวอยู่ อีกสักระยะที่ปอดอักเสบอาจจะมีอาการมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตรายงาน 18 ราย ถือว่าคงตัวแนวโน้มลดลงเล็กน้อยและเริ่มทรงตัว ผู้ป่วยรายใหม่ทรงตัว ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังไม่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผู้ป่วยอาการไม่มากอาจเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI จากที่เคยเหลือ 1 หมื่นราย เพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 หมื่นราย การลงทะเบียนรับยาผ่าน สปสช. ระบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นสัปดาห์ก่อน 1.91 แสนราย เพิ่มเป็น 2.07 แสนราย

โควิด

โควิด ยังไงก็ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

โดยภาพรวมรายสัปดาห์ช่วงวันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ใกล้เคียงกับตัวเลขรายงานของวันที่ 4 กรกฎาคม ผู้ป่วยรายใหม่ที่มา โรงพยาบาลสะสม 16,000 ราย เฉลี่ยกว่า 2 พันคนต่อวัน เสียชีวิตสะสม 106 ราย ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 161 ราย แต่พบว่ายังเป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด เกือบ 50% ไม่ได้วัคซีน บางคนฉีดเข็มเดียว ไม่สามารถป้องกันอาการรุนแรง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ อีก 30% ฉีด 2 เข็มแต่เกิน 3 เดือนแล้ว

“การป้องกันไม่ให้ป่วยรุนแรง ต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยโรคเรื้อรังที่เสียชีวีตเยอะ คือ โรคไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และกลุ่มมะเร็ง อาจไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเสียชีวิตเพื่มขึ้น”

กทม.-ปริมณฑล-จังหวัดท่องเที่ยวติดเชื้อเพิ่ม 

สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบและอัตราครองเตียงทั้งประเทศ 10.9% อยู่ในเกณฑ์ดี ถ้าเกิน 50% ต้องเพิ่มจำนวนเตียง หลายจังหวัดปรับเตียงโควิดอาการหนักไปใช้โรคอื่น แต่หลายจังหวัดมีสัดส่วนการครองเตียงเพิ่มขึ้น เช่น กทม.และปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต แต่อัตราครองเตียง 20-30% อยู่ในเกณฑ์รองรับได้ ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว มีผู้ติดเชื้อและป่วยนอนรักษาเพิ่มขึ้น

292102076 407786341376615 4349466390031065620 n

 

ระบาดจากโรงเรียนสู่ครอบครัวคลัสเตอร์เล็กๆ

ไทยพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในเกณฑ์รองรับได้ในระบบสาธารณสุข ผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน โรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเตียงระดับ 2-3 แม้การใช้เพิ่มขึ้น แต่ถูกนำไปใช้โรคอื่น  ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์  มีเพียงพอ แต่พบการระบาดในโรงเรียน สถานศึกษา เป็นคลัสเตอร์เล็กๆ หลายจังหวัด อาจแพร่ไปสู่ครอบครัว กลุ่ม 608 ได้ การป้องกันส่วนบุคคลสำคัญ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา แม้เริ่มผ่อนคลายที่โล่งแจ้ง ต้องเร่งสร้างภูมิด้วย ขอย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ สวมหน้ากากป้องกันได้ แต่วัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก ไม่ให้ใส่ท่อและเสียชีวิต

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่าหลายประเทศผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากไปมาก คนที่เดินทางไปต่างประเทศที่เริ่มผ่อนคลาย ยังแนะนำสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันติดเชื้อกลับมา เพราะกลับมาอาจติดคนในบ้าน ขอให้หลีกเลี่ยงไปร่วมกิจกรรมที่คนมาก ไม่สวมหน้ากาก เพราะตอนนี้แถบยุโรป สหรัฐ  BA.4 BA.5 เยอะมาก

โควิด

ถ้าไปแล้วพบว่าติดเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง กลับถึงไทยขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อใกล้ชิดคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่ม 608  เพื่อลดเสี่ยงเอาเชื้อที่รับมาไปแพร่ ถ้าป่วยมีไข้เจ็บคอ ซึ่ง BA.4 และ BA.5 ค่อนข้างพบมีไข้ ไอ เจ็บคอค่อนข้างเยอะ ถ้ามีอาการแล้วสงสัยตรวจ ATK ได้เลย

เข้าสู่ “อาฟเตอร์ช็อก” ช่วงก.ย.นี้ พีคสุด

เวฟเล็กแรกที่จะเจอคือ ช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 35 หรือช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึงกันยายนนี้จะเป็นช่วงพีคสุด

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่ามีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปถึงปี 2566 หลังจากการเกิดระลอกใหญ่ของโอไมครอนช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าจะเกิดเวฟเล็ก ๆ เป็น “อาฟเตอร์ช็อก “ ตามมา จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

“เวฟเล็กแรกที่จะเจอคือ ช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 35 หรือช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึงกันยายนนี้จะเป็นช่วงพีคสุด ตอนนี้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้อาจมีผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น  คาดการณ์จากมาตรการที่ยังคงเหมือนในมิถุนายน 2565 คือ ยังสวมหน้ากาก  ตอนนี้เรามีป่วยเข้ารักษา 2 พันรายต่อวัน คาดกันยายนไม่ควรจะเกิน 4 พันรายต่อวัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่าถ้าผ่อนคลายมาตรการกันหมด ไม่สวมหน้ากาก อาจจะมากจากนี้ได้ แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยในช่วงเวลาใกล้ๆ อีกครั้ง แต่อาจไม่สูงเท่าโอไมครอนตอนต้นปี เนื่องจากฉีดวัคซีนมีมากแล้ว ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต ก็จะมีการคาดการณ์ตัวเลขเพิ่มเติม ตอนนี้การติดเชื้อกำลังขึ้นแล้ว ไม่เกิน 10 สัปดาห์ ไปจุดพีคของเวฟเล็ก ๆ นี้ คือเดือนกันยายน แต่หากผ่อนคลายมาก เดินทางมหาศาล ติดเชื้อมากๆ และไปเจอกลุ่ม 608 ป่วยมาก ก็จะเป็นเวฟใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบผ่อนหน้ากาก ตอนนี้มีสัญญาณแล้วรีบใส่ไว้ก่อน

ติดเชื้อจริงต่ำกว่าความเป็นจริง 10 เท่า

กรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงต่ำกว่าความเป็นจริง 10 เท่านั้น ถ้าเป็นระลอกแรก ๆ เราเน้นผู้ติดเชื้อ แต่โอไมครอนการระบาดเยอะแต่ไม่รุนแรง เราฉีดวัคซีนไปเยอะมากแล้ว กว่า 80% ในเข็มแรก เข็มกระตุ้นยัง 40% กว่า ฉะนั้น ถ้าฉีดเพิ่มขึ้นจะดีมากขึ้น สถานการณ์รายงานโรคจึงเน้นผู้ป่วยเป็นหลัก คือ รักษาในโรงพยาบาล เพื่อติดตามว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหน การรายงานเราติดตามทั้งผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อในระบบลงทะเบียนรักษา สปสช. หลายคนติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจไปซื้อฟ้าทะลายโจร หรือลงทะเบียนรับยาแล้วนอนอยู่บ้าน  แต่การติดเชื้ออาจพบได้ขึ้นเรื่อยๆ

โควิด

ตัวเลข 10 เท่านั้น ถ้าตัวเลขดูจากข้อมูลเรารักษาในโรงพยาบาล 2 พันราย ระบบลงทะเบียน OPSI อยู่ที่ 2 หมื่นราย ก็ประมาณ 10 เท่า แต่อาจจะมากกว่าเพราะติดเชื้อแสดงอาการ หรือติดเชื้ออาการน้อย  อาจจะมากกว่า 10 เท่า ตรงนี้ไม่ห่วง เพราะรักษาตัวเองเหมือนไข้หวัด ถ้าไม่ลงปอดหรือปอดอักเสบ ก็ไม่ไปโรงพยาบาลรักษาตัวเอง อยากให้ทุกคนอยู่กับโควิดได้ลักษณะแบบนั้น  เวฟเล็กๆ ถ้าไม่เกินระบบสาธารณสุขก็ไม่น่าเป็นห่วง

นพ.จักรรัฐ  กล่าวว่าที่สำคัญคือการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเน้นมาตรการ 2U คือ Universal Prevention คือ การป้องกันการติดเชื้อ โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination คือ ให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight