General

เสียงเตือนจาก สภาเภสัชกรรม ใช้ ‘กัญชา’ ร่วมกับยาต่อไปนี้ ระวัง ‘ยาตีกัน’

สภาเภสัชกรรม เตือนก่อนใช้กัญชา ร่วมกับยาอื่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ป้องกันปัญหายาตีกัน รวมประเภทยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับกัญชา ที่นี่

สภาเภสัชกรรม โพสต์เพจเฟซบุ๊ก สภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council เตือนภัยการใช้ กัญชาร่วมกับยาอื่น อาจเกิดปัญหา ยาตีกันได้ โดยระบุว่า

shutterstock 2091663418

กัญชากับยาตีกัน!

ตามที่ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 และนำไปสู่การเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม อาจส่งผลกระทบกับยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่น ๆ ที่ท่านรับประทานอยู่

ดังนั้นหากท่านใดใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้ กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โปรดตรวจสอบหรือปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกท่าน

ด้วยเหตุนี้ หน่วยข้อมูลยาของ สภาเภสัชกรรม เล็งเห็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ผู้ใช้ทุกท่านควรทราบ เพื่อส่งเสริมให้การใช้เป็นไปอย่างปลอดภัย

กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาไทยมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งการที่มีฤทธิ์เป็นยาเพราะกัญชามีสารจำนวนมากเป็นองค์ประกอบเช่น สารทีเอชซี (THC = Tetrahydrocannabinol) และ สารซีบีดี (CBD = cannabidiol) เป็นต้น

กัญชา 1

ด้วยเหตุนี้ การบริโภคกัญชาจึงเป็นการบริโภคสารต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปในร่างกาย และด้วยเหตุที่สารเหล่านี้ ก็เหมือนกับยาทั่วไปที่เมื่อร่างกายได้รับ จะกระจายไปออกฤทธิ์ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นสรรพคุณต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นยา

นอกจากนี้ สารที่อยู่ในกัญชา ก็เหมือนกับยาอี่น ๆ คือจะต้องได้รับการเปลี่ยนสภาพ และขจัดออกไปจากร่างกาย โดยอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพและขจัดได้แก่ ตับและไต เป็นหลัก

หากมีการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาร่วมกันกับยาอื่น ๆ อาจเกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า ยาตีกัน ได้

ข้อมูลทางวิชาการและรายงานที่มีอย่างแพร่หลาย ในฐานข้อมูลวิชาการระดับนานาชาติ ได้แสดงให้เห็นว่า
ภาวะ ยาตีกัน ของกัญชาอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น

1. การบริโภคกัญชาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทบางประเภทเช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ตัวอย่างเช่น diazepam หรือผู้ป่วยที่ใช้ยามอร์ฟีน อาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กดประสาทมากเกินไปจนเกิดผลเสียได้

กัญชา ตีกัน

2. หากผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชื่อ ยาวาร์ฟาริน  ได้รับกัญชาเข้าไปอาจทำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีระดับสูงขึ้น จนเกิดอาการเลือดออก และทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันได้ ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานในฐานข้อมูล

3. การใช้ กัญชาร่วมกับ ยากันชัก บางประเภท อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับยากันชัก และส่งผลกระทบต่อการรักษาได้ อาจจำเป็นต้องวัดระดับยากันชักในเลือด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม

4. หากใช้ กัญชาร่วมกันกับยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า บางชนิดเช่น ยาฟลูอ๊อกซิติน (fluoxetine) ยารักษาเชื้อรา (เช่นยา ketoconazole) ยารักษาโรคติดเชื้อบางประเภท (เช่นยา clarithromycin) หรือยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่นยา verapamil)

ยาเหล่านั้นอาจไปลดความสามารถของตับและไต ในการเปลี่ยนสภาพ และขจัดกัญชาออกจากร่างกาย ระดับของสารสำคัญในกัญชา จะสูงกว่าปกติได้หลายเท่า และนำไปสู่อาการเมา หรือเกิดอาการข้างเคียงได้ ทั้ง ๆ ที่บริโภคกัญชาในขนาดทั่วไป

โดยสรุปแล้ว กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมก็เป็นเหมือนยาอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบกับยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่น ๆ ที่ท่านรับประทานอยู่

ดังนั้นหากท่านใดใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โปรดตรวจสอบหรือปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกท่าน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo