General

‘ดร.อนันต์’ ตอบแล้ว ทำไมต้องใช้ไวรัสที่เก็บมานาน 40 ปี ทำวัคซีนฝีดาษลิง

“ดร.อนันต์” ไขข้อข้องใจ ทั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ผลิตวัคซีน ทำไมยังต้องใช้ไวรัสที่เก็บมานาน 40 ปีมาผลิตวัคซีนฝีดาษลิง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ตอบชัดเรื่องวัคซีนฝีดาษลิง เหตุผลที่ต้องใช้ไวรัสที่เก็บมา 40 ปีที่แล้วมาผลิต โดยระบุว่า

วัคซีนฝีดาษลิง

มีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษลิงน่าสนใจครับ ถามว่าตอนนี้เรามีเทคโนโลยีหลายตัวทั้ง mRNA, viral vector, recombinant subunit ที่สามารถสร้างวัคซีนได้ไว ทำไมต้องไปนำไวรัสที่เก็บมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วมาทำเป็นวัคซีน

และที่สำคัญ ยังไม่แน่ใจด้วยว่าจะนำมาใช้ได้จริงหรือเปล่า แบบนี้เท่ากับว่าวิทยาศาสตร์ย้อนยุคกลับไปเทคโนโลยีตั้งต้นหรือเปล่า…เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ ครับ

จะตอบคำถามข้อนี้ได้ชัดขึ้น คงต้องแนะนำให้รู้จักตัวไวรัสตระกูลฝีดาษลิง หรือ Poxvirus กันก่อน

อนุภาคไวรัสของฝีดาษลิง มีขนาดใหญ่กว่าไวรัสโรคโควิด-19 มากพอสมควร และ ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ ไวรัสโรคโควิด-19 มีกลไกการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ที่ชัด ตรงไปตรงมา ง่าย ๆ คือใช้โปรตีนหนามสไปค์ที่อยู่บนผิวของอนุภาคไวรัส จับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์ของโฮสต์

ถ้ามีวัคซีนที่ไปสร้างภูมิ หรือ แอนติบอดีต่อหนามสไปค์ไปยับยั้งกระบวนการจับกันดังกล่าว คือ จบ ไวรัสไปต่อไม่ได้ วัคซีนจึงมุ่งไปที่การสร้างสไปค์ให้ร่างกายรู้จัก เพื่อสร้างแอนติบอดีให้สูง ๆ

แต่ไวรัสฝีดาษลิง ไม่เหมือนกับโควิดหลายประการ ที่ชัดที่สุด คือ อนุภาคไวรัสตระกูลฝีดาษลิง มีอยู่ถึง 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน โดยทั้ง 2 รูปแบบสามารถติดเชื้อและสร้างเป็นไวรัสใหม่ในธรรมชาติได้ทั้งคู่

ไวรัสฝีดาษลิง

รูปแบบแรกชื่อว่า IMV หรือ MV ส่วนอีกรูปแบบนึง ชื่อว่า EEV หรือ EV ซึ่งทั้ง MV และ EV เป็นลักษณะของอนุภาคไวรัสที่สร้างออกมาแบบปน ๆ กัน จากเซลล์ที่ติดเชื้อ และพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณต่อในเซลล์ข้างเคียง หรือ ปลดปล่อยแพร่ไปหาคนอื่น

จุดท้าทายคือ MV และ EV มีกลไกการติดเข้าสู่เซลล์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

จากภาพ MV จะมีโปรตีนอยู่บนผิวอยู่จำนวนนึง (โปรตีนสีเหลือง) ซึ่งเชื่อว่าทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสไปค์ ในการจับกับโปรตีนตัวรับ

โปรตีนเหล่านั้น โดยหลักการแล้ว คงสามารถนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนต่อได้ แต่ EV ดันไปมีโครงสร้างของชั้นไขมันอีกหนึ่งชั้นมาหุ้ม MV ต่ออีก ซึ่งบนชั้นไขมันนั้น ก็มีโปรตีนอีกชุดนึง (โปรตีนสีฟ้า) ที่ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ได้เช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้เรายังไม่ทราบเลยว่าโปรตีนชุดสีฟ้ามีกี่ชนิดอะไรบ้าง

ฝีดาษ

ถึงจุดนี้คงนึกภาพออกว่า เราจะเอาอะไรไปทำเป็นแอนติเจนของวัคซีนดี โปรตีนเหลือง หรือ โปรตีนฟ้า หรือ ทั้งคู่ และ มีโปรตีนอะไรบ้างที่ต้องเอามาใส่ในวัคซีนถึงจะพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ…วันนี้ยังไม่มีคำตอบครับ

วิธีการที่ดีที่สุดคือ เลียนแบบธรรมชาติ เราไม่ทราบว่ามีโปรตีนอะไรบ้างที่พอจะสร้างภูมิ  แต่ธรรมชาติให้ไวรัสที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิข้ามสายพันธุ์มาป้องกันไวรัสฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษคนในระดับสูงได้

ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการใช้ไวรัสตามธรรมชาติดังกล่าว แต่ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนเชื้อลงในระดับที่รับได้ จึงทำให้ไวรัสเก่าแก่กว่า 40 ปี ยังต้องเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo