General

‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ จัดสรรน้ำ รับมือภัยแล้ง ฤดูฝน ฟื้นฟูคลองแสนแสบ

จัดสรรน้ำ รับมือภัยแล้ง เพาะปลูกฤดูฝน ปี 64 บิ๊กป้อม นั่งประธานประชุท กนช. เร่งกำหนดกรอบเวลาทำงาน พร้อมสั่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมด้วย เพื่อวางแผน จัดสรรน้ำ รับมือภัยแล้ง และการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2564

จัดสรรน้ำ รับมือภัยแล้ง

ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการวางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ และ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 โดยมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบ กำหนดกรอบระยะเวลา การดำเนินงานที่ชัดเจน และเห็นชอบ แผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อม คลองแสนแสบ 3 ระยะ

พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า จากการติดตามผลการดำเนินการ 9 มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ส่งผลให้ปัจจุบัน ยังไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)

ดังนั้น ในอีกประมาณ 1 เดือนจากนี้ ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชน ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่เป้าหมาย ที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่อง น้ำอุปโภค – บริโภค ซึ่งมั่นใจว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการในเชิงป้องกัน จะสามารถบรรเทาผลกระทบ ให้กับประชาชน ในช่วงปลายฤดูแล้ง ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการปลูกพืชฤดูแล้ง ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างเคร่งครัด ไม่ให้ส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุน ต้นฤดูฝน เพื่อเริ่มต้นการปลูกข้าวนาปีได้ตามแผน

ประวิตร
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน ควบคุมการจัดสรรน้ำ และการลำเลียงน้ำจากอ่างฯ ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และมอบหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช ให้สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุน เพื่อการลดการใช้น้ำ ในระดับตำบล และจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน (RoadMap) ให้เป็นรูปธรรมด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ การวางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ และ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 โดยมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบ กำหนดกรอบระยะเวลา การดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ

  • การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนทิ้งช่วง
  • การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก
  • ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง และเขื่อนระบายน้ำ
  • ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา
  • เตรียมความพร้อมเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ

หลังจากนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบโดยเร็ว ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อมอบหมายหน่วยงาน นำมาตรการต่าง ๆ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ แผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟู สภาพแวดล้อม คลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะต้องเร่งดำเนินการ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ปี 2564 ระยะกลาง ปี 2565-2570 และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป

แผนการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ มี 5 เป้าหมายหลัก คือ

1. การเสริมสร้างความปลอดภัย ในการสัญจรทางน้ำของประชาชน

2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ บริเวณคลองแสนแสบ

3. การแก้ไขปัญหามลภาวะ และคุณภาพน้ำ คลองแสนแสบ

4. การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรใน คลองแสนแสบ

5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คลองแสนแสบ

ก่อนปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้คลองแสนแสบ ใสสะอาด ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายไว้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย เพื่อศึกษา วิเคราห์สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำท่าจีน, ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo