General

คาดภัยแล้งปี 2564 ไม่รุนแรง จากปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 (มกราคม–เมษายน 2564) นับว่าไม่รุนแรง และน่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2563 เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงเพียงร้อยละ 7.3 ซึ่งเป็นการลดลงเฉพาะในภาคตะวันตกเท่านั้น ขณะที่ภาคอื่นๆ ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่าปีก่อน 

ภัยแล้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ในบางพื้นที่จนต่อเนื่องไปถึงเดือนเม.ย. น่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรฤดูแล้งหลักอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด และเป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

ภัยแล้งปี 2564

คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปรังน่าจะขยับขึ้นได้เล็กน้อย (เมื่อเทียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อน) ไปอยู่ที่ราว 4.4-4.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5-5.5 ขณะที่ในแง่ของราคาคาดการณ์เฉลี่ยข้าวนาปรังอาจอยู่ที่ 8,800-9,000 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 1.5-3.7

นอกจากนี้ มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่เกิดขึ้นหากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนคาดการณ์มาตามปกติ ขณะที่หากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจทำให้มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

จากการที่ไทยได้เข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญากำลังอ่อนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศ และได้ส่งอานิสงส์ไปยังปริมาณน้ำในเขื่อนให้เพิ่มขึ้นด้วย ต่อเนื่องมาในปี 2564 ที่แม้ไทยจะยังไม่ได้มีประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่า ภาพรวมระดับน้ำในเขื่อน ณ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศอยู่ที่ 15,294 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือลดลงเพียงร้อยละ 7.3 ซึ่งเป็นการลดลงเฉพาะในภาคตะวันตกเท่านั้น

ขณะที่ในภาคอื่นอย่างภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังมีปริมาตรน้ำใช้การได้มากกว่าปีก่อน จึงคาดว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 น่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรยังสามารถพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพื่อการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง 

ข้าวนาปรัง เป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-เม.ย.) เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรปลูกในฤดูแล้ง และต้องอาศัยน้ำในเขื่อนเป็นหลัก อีกทั้งยังตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งมีสัดส่วนผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าร้อยละ 72.3 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งปี และข้าวนาปรังยังคิดเป็นผลผลิตราวร้อยละ 14.4 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ

หากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีแนวโน้มมากกว่าปีก่อนจากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญา ประกอบกับเป็นช่วงที่เกษตรกรได้ผ่านพ้นช่วงการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปหมดแล้ว (ช่วงที่ใช้น้ำเยอะในการเพาะปลูก) ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเหลือแค่เพียงรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต (ช่วงที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมากนัก) จำนวนมากในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.เท่านั้น

หมายความว่า ณ เดือนก.พ.เกษตรกรได้มีการปลูกข้าวนาปรังไปหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการเก็บเกี่ยว เมื่อผนวกกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในระยะ 2 เดือนข้างหน้านี้ (มี.ค.-เม.ย.) ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งประเทศส่วนใหญ่สูงกว่าค่าปกติราวร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และอาจเกิดพายุฤดูร้อนเข้ามาในปีนี้ถึง 4 ลูก ทำให้ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรจนทำให้ผลผลิตเสียหายน่าจะอยู่ในวงจำกัด   

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ในบางพื้นที่ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเม.ย. น่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรฤดูแล้งหลักอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด และเป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

ภัยแล้งปี 2564

คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปรังน่าจะขยับขึ้นได้เล็กน้อยไปอยู่ที่ราว 4.4-4.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5-5.5 จากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญา (เมื่อเทียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อน) ที่จะส่งผลให้มีน้ำฝนเข้ามาเติมน้ำในเขื่อนได้ในเดือนมี.ค.-เม.ย. ทำให้เอื้อต่อการทำการเกษตร

อย่างไรก็ดี ระดับปริมาณผลผลิตคาดการณ์ข้าวนาปรังนี้ ก็ยังเป็นระดับที่นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2559-2563) ที่ราว 5.6 ล้านตัน แม้จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่ดีขึ้นและแรงจูงใจจากมาตรการภาครัฐในปีนี้ที่ทำให้เกษตรกรยังคงปลูกข้าวนาปรังต่อไป เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกร หรือเงินค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 500 บาท เป็นต้น

ภัยแล้งปี 2564

แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ผลผลิตข้าวนาปรังกลับไปสู่ค่าเฉลี่ยในอดีตได้ โดยในปี 2564 จะเป็นปีที่กำลังปรับฐานผลผลิตข้าวนาปรังให้ทยอยเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ขณะที่ในแง่ของราคาคาดการณ์เฉลี่ยข้าวนาปรังอาจอยู่ที่ 8,800-9,000 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 1.5-3.7

สำหรับผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งในฤดูกาล (ม.ค.-เม.ย.2564) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่เกิดขึ้นหากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนคาดการณ์มาตามปกติ ขณะที่หากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจทำให้มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากเกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปรังบางส่วน ซึ่งนับว่ายังเป็นผลกระทบในวงจำกัดเท่านั้น

ภัยแล้งปี 2564

ทั้งนี้ คงต้องติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะ 2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้งและยังอาจมีพายุฤดูร้อนเพิ่มเติมเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินผลกระทบจากภัยแล้งจนถึงขณะนี้ว่ายังไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรหลักของไทยอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ในระดับภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในท้องที่ที่เดิมครัวเรือนส่วนใหญ่ก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกร การมีงานทำ ปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด จะยิ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ภาพรวมความต้องการสินค้าเกษตรอยู่ในภาวะที่เติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo