General

ขอ ‘ระยะห่างทางสังคม’ เข้มข้น ชี้เพิกเฉย 15 เม.ย. ติดเชื้อ ‘โควิด-19’ พุ่ง 2.5 หมื่นคน

ขอระยะห่างทางสังคมเข้มข้น หน่วงเวลาเข้าสู้การแพร่ระบาดระยะ 3 ย้ำ หากไม่ทำ 15 เม.ย. ผู้ป่วยสะสมพุ่งเป็น 25,225 ราย แน่นอน หากทำได้  80% ผู้ป่วยสะสมเหลือ 7,745 ราย 

903569

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาย้ำข้อมูล ว่า ปัจจุบันสัดส่วนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด ใกล้เคียงกับกรุงเทพ และปริมณฑลแล้ว โดย ณ วันนี้ (27 มี.ค.) สัดส่วนต่างจังหวัดอยู่ที่ 49.3% กรุงเทพ และปริมณฑล 50.7 %/

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ณ วันที่ 26 มีนาคม พบผู้ป่วยใน 52 จังหวัด เป็นคนไทย 88% ต่างชาติ 12% โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 จากข้อมูลที่มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพ คาดว่าจะไปป่วยที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

P01 01 2

หากไม่มีมาตรการป้องกันจะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย แต่หากทุกคนทำมาตรการ ระยะห่างทางสังคม  (Social Distancing) ได้ 50% จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และหากทำได้ 80% จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย

ดังนั้นตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างไร อยู่ที่ประมาณความเข้มข้นของ ระยะห่างทางสังคม หากทุกคนช่วยกันก็จะทำให้ไทยเข้าสู่การระบาดระยะ 3 ได้ ช่วยให้มีเวลาในการเตรียมทรัพยากร เช่น เตียง ให้เพียงพอกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลได้ยกระดับความเข้มข้นขึ้นมาแล้ว ทุกมาตรการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ปิดพื้นที่ และควบคุมการจัดการภายในพื้นที่เสี่ยงสูง อาทิ กรุงเทพฯ ปริมณฑล แหล่งท่องเที่ยว หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีมาตรการเข้าออกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตนเอง

อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับ “ระยะห่างทางสังคม” และระมัดระวังการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ซึ่งมีดังนี้

1. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป

2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว ต่อไปนี้

  • โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี
  • ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด
  • ภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน

ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี

P02 01 1

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำถึงระยะฟักตัวของโรคไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนเข้าใจโรค ไม่ตื่นตระหนก และหาชุดตรวจมาตรวจเอง ตามที่มีการเผยแพร่ทางโลกโซเชียล ซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐาน และแปรผลผิดได้ โดยอธิบายว่า เชื่อไวรัสที่เรียกว่า Antigen เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะค่อยๆเพิ่มจำนวนจนถึงจุดหนึ่ง ร่างกายคนจะสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ Antibody มาสู่กับเชื้อโรค หากภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อโรคได้ ก็จะหายออกจากร่างกายคนนั้น และภูมิคุ้มกันบางชนิดจะอยู่ตลอดไป ไม่กลับมาป่วยอีก

แต่สำหรับกลุ่มไข้หวัดใหญ่นั้น เชื้อไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมค่อนเข้างเร็ว ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้จะมีอายุ 1 ปี หมายความว่าปีต่อไป สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ตรวจโดยหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส หรือ Antigen และกำลังนำวิธีตรวจโดยหาภูมิคุ้มกันมาใช้ อย่างไรก็ตามการตรวจทั้ง 2 วิธี ทั้งตรวจหาเชื้อโรค และภูมิคุ้มกันจะต้องเป็นการตรวจหาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

การตรวจโดยหา Antigen ทำได้ในระยะ 3-5 วัน ที่ได้รับเชื้อมา แต่การตรวจหาภูมิคุ้มกัน จะใช้เวลามากกว่านั้น หรือประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะตรวจได้ผล บอกได้ว่าผู้นั้นเคยได้รับเชื้อมาก่อนหน้านี้ และร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่แพร่เชื้อแล้ว

ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การรับรองชุดตรวจหาเชื้อไวรัส ใน 5 ราย อนุมัติไป 2 ราย อีก 2 รายอนุมัติ แบบมีเงื่อนไข ส่วนชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน ขอไป 17 ราย อนุมัติไป 2 ราย แต่ทั้งหมดยังต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีก

สำหรับการตรวจแบบรู้ผลเร็ว หรือ แรพพิสเทส  (rapid test) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หากตรวจแล้วมีผลเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่พบเชื้อ แต่หากผลเป็นบวก ไม่ได้แปลว่าติดเชื้อและแพร่เชื้ออยู่ อาจอยู่ในระยะฟักตัว ซึ่งต้องมากกว่า 10 วัน เพราะจะหาภูมิคุ้มกันเจอ เมื่อได้รับเชื้อแล้ว และร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกัน

“ทั้งนี้การตรวจหาเชื้อไม่ใช่ มีปัจจัยเรื่องความรวดเร็วเท่านั้น แต่สำคัญอยู่ที่แปรผล การอ่านค่า หากตรวจแล้ว ผลเป็นบวก ก็ต้องมีเปอร์เซนต์มาเกี่ยวข้องด้วย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้ สัดส่วน 85% หมายถึง หากผลระบุว่าไม่เป็น ก็ต้องไม่เป็นจริงๆ หากเป็นก็ต้องเป็นจริงๆ จีงไม่แนะนำให้ประชาชนหาซื้อมาตรวจเอง  ” 

 

Avatar photo