General

‘โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร’ โรคร้ายภายใต้ความสงัด

หมอชวนรู้ โดย แพทยสภา ชวนทำความรู้จัก โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคร้ายภายใต้ความสงัด 

ถ้ากล่าวถึงมะเร็งร้ายที่มักได้ยินอยู่เสมอจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงานว่า มีคนที่รู้จักดูแข็งแรงดี ไปตรวจร่างกายปุ๊บ เจอมะเร็งระยะลุกลามปั๊บ ไม่กี่เดือนก็สุขภาพทรุดโทรมลงแล้วก็เสียชีวิตไป แน่นอนว่าหนึ่งในมะเร็งร้ายนั้น ต้องมีมะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ด้วย

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นหนึ่งในมะเร็งที่จัดเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยรายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกในปี 2565 พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ จำนวน 968,365 คนและพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 659,805 คน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่5 จากสถิติมะเร็งทั้งหมดในทุกระบบ

ทำไมมะเร็งกระเพาะอาหารถึงเป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้เพราะมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการอักเสบเรื้อรังและยาวนานของเซลล์กระเพาะอาหาร โดยมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคจากอายุที่มากขึ้น เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) การสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารซึ่งอาจส่งต่อทางพันธุกรรม

การอักเสบจากปัจจัยดังกล่าว สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อืดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย จนกระทั่งมีอาการมากขึ้น ได้แก่ ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณลิ้นปี่ บางรายเกิดเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร มีอาเจียนเป็นเลือดเก่า ลิ่มเลือด หรือเลือดสด ขับถ่ายออกมามีอุจจาระสีดำ หรืออาจมีอุจจาระปนกับเลือดสดได้ถ้าเลือดออกเป็นจำนวนมาก บางรายแผลมีเลือดออกน้อย ๆ แต่ออกเรื้อรังก็ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะซีด อ่อนเพลีย มีผลต่อภาวะโภชนาการ ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลด

เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามก็จะสามารถคลำได้ก้อนที่ช่องท้องใต้ลิ้นปี่ หากมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองก็อาจคลำเจอก้อนได้ที่บริเวณคอ จนกระทั่งพัฒนาลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญอื่นได้แก่ ตับ ปอด กระดูก

จากที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่ามะเร็งกระเพาะอาหารมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก ๆ ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า ตนเองเป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อดำเนินไปจนเกิดการอักเสบเรื้อรังและพัฒนาเป็นมะเร็งก็จะมีการดำเนินอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ระยะลุกลาม

มะเร็งกระเพาะอาหาร

ทำอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่จะได้ผลดี ย่อมเกิดจากการตรวจเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยหากท่านมีอาการอืดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อาเจียนออกมามีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ ภาวะซีด อ่อนเพลีย ทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลด สงสัยว่ามีก้อนที่ท้อง โดยเฉพาะท่านที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

ที่สำคัญ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ซึ่งหากมีข้อบ่งชี้ แพทย์ก็จะทำการส่งต่อหรือส่งตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

เทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาไปอย่างมากของความคมชัด สามารถตรวจวินิจฉัยได้ถูกต้องและแม่นยำ สามารถตรวจการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยาสำหรับตำแหน่งกระเพาะอาหารที่สงสัย

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางเดินอาหารส่วนต้นสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถหายขาดและให้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม

การหมั่นสังเกต ดูแลสุขภาพ โดยการป้องกันโรคถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงมะเร็งกระเพาะอาหารแต่ได้ประโยชน์ต่อการป้องกันโรคอื่น ๆ ด้วย

แต่หากมีอาการดังกล่าวก็ให้ทุกท่านไม่ละเลยพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาซึ่งหากพบข้อบ่งชี้หรือสิ่งผิดปกติก็จะทำให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ซึ่งการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มต้น ย่อมสามารถหายขาดและให้ผลที่ดีกว่าการพบในระยะลุกลามหรือแพร่กระจายอย่างแน่นอน

บทความโดย รศ. ดร.นพ. ประสิทธิ์ มหาวงศ์ขจิต ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo