General

ข่าวดีกลุ่มเปราะบาง กทม. ลุยขยาย ‘BKK FOOD CENTER’ ครบ 50 เขต แบ่งปันอาหารผู้ยากไร้

กทม. เตรียมขยาย BKK FOOD CENTER ให้ครบ 50 เขต เพื่อกลุ่มเปราะบาง ผู้ยากไร้เข้าถึงอาหารทั่วกรุง หลังประเดิมนำร่อง 4 เขต

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการ BKK Food Bank เขตพระโขนง โดยมี นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารเขตพระโขนง ร่วมตรวจเยี่ยมและรายงานผลการดำเนินการ ณ ศูนย์ BKK Food Center เขตพระโขนง ชั้น 1 สำนักงานเขตพระโขนง

BKK FOOD CENTER

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีความเหลื่อมล้ำสูง มีทั้งคนที่เหลือเฟือและคนที่ขาดแคลน สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สังคมคนกรุงเทพฯ เป็นสังคมที่มีน้ำใจ กทม. จึงมีหน้าที่ประสานระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคกับผู้ที่ขาดแคลนโดยใช้สำนักงานเขตเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานเขตจะทราบว่า มีกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องการรับความช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่กี่คน จุดใดบ้าง โดยให้สำนักงานเขตจะจัดตั้งเป็นศูนย์กลางเพื่อกระจายของบริจาคสู่ผู้ที่มีความต้องการในรูปแบบที่มีศักดิ์ศรี โดยจัดทำเป็นรูปแบบคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ตให้ผู้ที่ขาดแคลนมาเลือกสินค้าได้เอง รวมถึงมีการสะสมแต้มคะแนนเพื่อแลกสินค้าที่ต้องการได้ด้วย เป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และได้สิ่งของตรงตามความต้องการของผู้ที่ขาดแคลน

เดินหน้าขยาย BKK FOOD CENTER ครบ 50 เขต

ในต่างประเทศมีการทำ Food Bank มานานแล้ว ในส่วนของกทม. จะพัฒนาโครงการ BKK Food Bank นี้ขยายให้ครบ 50 เขต เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้มากที่สุดต่อไป

สำหรับจุดมุ่งหมายของกทม.คือ ต้องการเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่อยากแบ่งปัน โดยสามารถแบ่งปันสิ่งของได้ที่สำนักงานเขตหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งข้อดีของระบบ BKK Food Bank คือ มีความชัดเจน สร้างความไว้ใจ และสร้างความมั่นใจว่าสิ่งของจากผู้ที่แบ่งปันจะถึงมือผู้ที่ขาดแคลนและยากลำบากได้จริง

BKK1

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน และช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเปราะบางในเมืองกรุงฯ ได้ ซึ่งโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่การสนับสนุนจากที่ประสงค์จะแบ่งปัน

สำหรับศูนย์ BKK FOOD CENTER เขตพระโขนง เป็น 1 ใน 4 เขตนำร่องของกรุงเทพมหานคร (เขตห้วยขวาง เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด เขตพระโขนง) ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาอาหารส่วนเกิน ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยส่งต่อแก่ผู้ที่ขาดแคลน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนจนเมือง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

ในการดำเนินงาน จะเป็นการจัดหารวบรวมส่งต่อวัตถุดิบอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก ผู้บริจาค สู่ ผู้รับ  เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ขาดแคลนอาหารอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ( Food Security ) ให้แก่ประชาชน

ชัชชาติ 1

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ภาคีเครือข่ายผู้บริจาคอาหารจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ ปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ปริมาณคาร์บอนที่สามารถลดลงได้ สอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ด้านสิ่งแวดล้อมดี และด้านบริหารจัดการดี

BKK Food Bank เขตพระโขนง ประกอบด้วย

1. อาหารส่วนเกิน (food Surplus) ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ดำเนินการสัปดาห์ละ 3 วัน (อังคาร พุธ และพฤหัสบดี) ส่งต่ออาหารแก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร 45 ชุมชน และอีก 15 ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน, เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง และเด็กนักเรียนด้อยโอกาส

ในปี 2566 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 22 สิงหาคม-30 กันยายน 2566 มีเป้าหมายดำเนินการ 18 ครั้ง ดำเนินการ 18 ครั้ง (คิดเป็น 100 %) ปี 2567 เริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567 มีเป้าหมายการดำเนินงาน 139 ครั้ง ดำเนินการแล้ว 60 ครั้ง (คิดเป็น 43.17 %)

จากผลการดำเนินการตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 รวมส่งต่ออาหารแล้ว 3,411 ราย คิดเป็น 13,295.06 มื้ออาหาร รวมน้ำหนักอาหารส่วนเกิน 3,165.49 กิโลกรัม สามารถลดปริมาณคาร์บอน 8,008.69 คาร์บอนไดออกไซค์ (TCO2e)

11 4

2. อาหารบริจาค (Food Donation) ส่งมอบอาหารแก่กลุ่มเปราะบาง ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์พระวิหาร และบริษัท จัสปาล จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเปราะบางในชุมชนจดทะเบียน 45 ชุมชน ในชุมชนไม่จดทะเบียน 15 ชุมชน กลุ่มคนงานภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง กลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหมู่บ้านนิรันดร์วิลล่า

จากการดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งในรูปแบบอาหารปรุงสุก ข้าวสารอาหารแห้ง ถุงยังชีพ ฯลฯ มีผู้ได้รับความช่วยหลือรวม 794 ราย

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการคัดเลือกโดยให้ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการชุมชน/อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เป็นผู้คัดเลือกกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการ รวมถึงค้นหาจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่นักพัฒนาชุมชน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ Food Hero จะลงพื้นที่มอบอาหารส่วนเกินที่ได้รับจากมูลนิธิ SOS (จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร) สู่ชุมชน สัปดาห์ละ 3 วันจำนวน 45 ชุมชน และอีก 15 ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในพื้นที่เขตพระโขนง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo