General

‘วราวุธ’ นั่งประธาน คกก.คุ้มครองเด็กฯ ชี้ ‘ลดอายุเด็กกระทำผิด’ ไม่ใช่ทางออก พร้อมจัดทำคู่มือสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง

“วราวุธ” นั่งประธาน คกก.คุ้มครองเด็กฯ ชี้ “ลดอายุเด็กกระทำผิด” ไม่ใช่ทางออกป้องกัน-แก้ไขปัญหา พร้อมเตรียมจัดทำ “คู่มือสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง” 3 กลุ่ม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่ากากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และหารือแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดและเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา

โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สป.1 ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ลดอายุเด็กกระทำผิด
นายวราวุธ ศิลปอาชา

ลดเพดานเด็กกระทำผิด ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดถึงการลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิดให้ต่ำลงจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ที่อายุ 12 ปี

ซึ่งที่ประชุมมีมติตรงกันว่าการลดเพดานอายุเด็กไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการป้องกันปัญหา เพราะการลดอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็น 9 – 11 ปี ไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อลดอายุแล้วเด็กจะไม่ก่อเหตุ ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้กระทำผิดที่อายุต่ำกว่า 9 ปีก็เป็นได้ ยืนยันการลดอายุไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา

ลดอายุเด็กกระทำผิด

อีกทั้งที่ประชุมได้พูดถึงแนวทางการป้องกันโดยนำข้อมูลของแต่ละพื้นที่มาร่วมกันดูแลผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่แต่ละจังหวัดต้องไปสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงในครอบครัว ผู้ใหญ่แต่ละพื้นที่ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) รวมถึงกระทรวง พม. จะต้องสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และเข้าไปร่วมกันป้องกันด้วยการพูดคุยกับตัวเด็ก รวมถึงครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กก้าวข้ามเส้นขีดแบ่งจากเด็กกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นเด็กกระทำความผิด

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญคือการป้องกันปัญหา การสแกนแต่ละพื้นที่ การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียน และกระทรวง พม. ที่ต้องเข้าถึงเด็กแต่ละคนเพื่อป้องกันความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้น

ลดอายุเด็กกระทำผิด

จัดทำคู่มือสแกนเด็กลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า จะสามารถประเมินได้อย่างไรว่าการสแกนเด็กจะทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงไม่กลายเป็นเด็กกระทำผิดก่อความรุนแรง คงไม่สามารถการันตีได้ แต่การเข้าไปพูดคุย หารือปรับความคิด โอกาสที่จะเกิดจะน้อยลง อย่างน้อยเราจะได้เรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไร หากแนวโน้มดีขึ้นก็จะได้โฟกัสกับกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะข้ามเส้นกลายเป็นผู้กระทำผิด รวมไปถึงการใช้สารเสพติดด้วย

ทั้งนี้ ประชุมได้มีการพูดคุยหารือถึงแนวทางการดำเนินการรวมฐานข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน หรือ คู่มือกลางในการดำเนินการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีการจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน โดยมอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนต่อไป

ลดอายุเด็กกระทำผิด

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคุ้มครองครองเด็กจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ขอให้ดำเนินการทันทีในการลงไปสแกนเด็กแต่ละพื้นที่ ส่วนผลนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยกับเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมีการแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เด็กกลุ่มเสี่ยง 2) เด็กที่กระทำความผิดแล้ว และ 3) เด็กที่กระทำผิดแล้วและมีการส่งตัวเข้ารับการดูแลในบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องป้องกันไม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

นายวราวุธ ยังกล่าวถึงพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งไม่ดี คงต้องฝากสื่อมวลชนเรื่องการนำเสนอข่าว ภาพ รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะบางครั้งอาจไม่ต้องนำเสนอรายละเอียดทั้งหมด เพราะอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ตนเชื่อว่าการจำกัดการนำเสนอรายละเอียดข่าวจะช่วยได้พอสมควร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo