General

พ่อแม่ต้องระวัง โพสต์รูปลูกลงโซเชียล ต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

พ่อแม่ต้องระวัง โพสต์รูปลูกลงโซเชียล ต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็ก อาจเกิดผลเสียที่คาดไม่ถึง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

มีหลายกรณีที่เด็กถูกคุกคามผ่านทางโซเชียล ซึ่งผู้ริเริ่มการกระทำก็คือคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่ คนในครอบครัวนั่นเอง เช่น กรณีที่เยาวชนหญิงถูกพ่อแม่โพสต์ภาพลงทางทวิตเตอร์จนถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น

โพสต์

ทั้งยังพบอีกว่าบางรายไม่เพียงแต่โพสต์ภาพถ่ายลูกในบัญชีโซเชียลส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างเพจหรือมี Instagram ให้ลูกโดยเฉพาะ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นส่วนตัว โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวมีข้อเสียแอบแฝงอยู่มากมายที่พ่อแม่คาดไม่ถึง จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกทำร้าย เราจึงควรให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ควรกระทำต่อเด็ก และสิทธิเด็ก มากขึ้น

ข้อเสียของการโพสต์รูปลูกลงโซเชียล

การโพสต์รูปลูกน้อยแต่ละครั้ง อาจไม่ใช่แค่การอวดภาพถ่าย แต่ยังเป็นการแสดงออกถึง “ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก” ได้แก่ ชื่อ อายุ โรงเรียน ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะไปรับเด็กที่โรงเรียน และข้อมูลชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของเด็ก ข้อเสียที่สำคัญคือถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปยังผู้ที่มีความประสงค์ร้ายต่อเด็กหรือมิจฉาชีพ อาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวเด็กเอง เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก เป็นต้น

ส่งผลต่อสภาพจิตใจในอนาคตของเด็ก

พ่อแม่บางท่านโพสต์รูปลูกที่เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจเด็กในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย เมื่ออนาคตเด็กโตขึ้น อาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ เป็นต้น หรือเด็กหลายรายไม่ชอบที่จะโตไปแบบมีคนรู้จัก หรือมีคนทักทายตลอดเวลา

โพสต์รูปลูกลงโซเชียล

ข้อควรทำในการโพสต์รูปลูกลงโซเชียล

  1. พ่อแม่ควรเคารพสิทธิของเด็กในการจะโพสต์ภาพหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ถ้าจำเป็นหรือตัดสินใจโพสต์ควรคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะสมในการโพสต์
  2. หากเด็กเริ่มรู้ความหรืออายุ 2-3 ขวบขึ้นไป ควรถามเด็กก่อนโพสต์ ว่าตัวเด็กเองชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เด็กควรมีสิทธิในการอนุญาตก่อนโพสต์
  3. ก่อนโพสต์ภาพหรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ควรคำนึงถึงอนาคตของเด็ก และควรแทนความรู้สึกของตัวเองลงไป ว่าถ้าหากเป็นตัวเองจะชอบโพสต์นั้นหรือไม่เมื่อโตขึ้น
  4. ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเด็กแก่สาธารณะ ควรตั้งค่าให้เป็นส่วนตัว หรือตั้งค่าให้เห็นเฉพาะกลุ่ม ผู้ที่เห็นข้อมูลหรือโพสต์ที่เกี่ยวกับเด็กควรเป็นคนที่ไว้ใจได้ เช่น ญาติ คนรอบข้าง ควรละเว้นการเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคคลแปลกหน้า

กฎหมายการคุ้มครองเด็ก

ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กอยู่หลายข้อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ’ ที่ให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น ‘พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546’ มาตรา 27 ที่ห้ามไม่ให้โฆษณาหรือเผยแพร่สื่อที่เจตนาให้เกิดความเสียหายต่อตัวเด็กหรือผู้ปกครอง รวมไปถึง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA’ ว่าด้วยมาตรา 4(1) ที่หากรูปภาพที่เผยแพร่สร้างความเดือดร้อน ความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพหรือผู้อื่น อาจถูกฟ้องร้องได้

ภาพถ่ายที่ไม่ละเมิด สิทธิเด็ก รูปที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรโพสต์หรือแชร์

  • ภาพถ่ายโรงเรียนของเด็ก หรือระบุตำแหน่งให้พื้นที่สาธารณะทราบตลอดเวลา อาจกลายเป็นภัยที่ทำให้ผู้ไม่หวังดีทำร้ายเด็กได้
  • ภาพถ่ายเด็กตอนอาบน้ำ แม้จะดูน่ารักน่าชัง แต่ความเป็นจริงในสังคมเรามีผู้คนหลากหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นผู้ร้ายโรคจิตที่ชอบการทำอนาจารเด็ก ทำให้เด็กตกอยู่ในอันตรายได้
  • ภาพถ่ายที่เด็กไม่อยากให้แชร์ เพราะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวเด็ก ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
  • ภาพถ่ายที่ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ไม่ปลอดภัย เช่น ภาพเด็กนั่งตักพ่อแม่ขณะขับรถ ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กลายเป็นความปกติในสังคม เนื่องจากแท้จริงแล้วเป็นความประมาทที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ดังนั้น การจะโพสต์ภาพหรือคลิปใดๆ ควรคำนึงให้ถี่ถ้วนถึงผลเสียที่อาจตามมาทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงความรู้สึกของเด็กๆ เมื่อพวกเขาได้พบเห็นขณะเติบโตขึ้น โดยนอกจากในเรื่องของความรู้สึกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจคือ สิทธิส่วนบุคคล และ สิทธิเด็ก ในประเทศไทยมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หลายข้อที่ถูกบังคับใช้

ข้อมูลจาก
.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo