General

‘ดีเอสไอ’ รับคดี ‘ลุงเปี๊ยก’ เป็นคดีพิเศษ

“ดีเอสไอ” เผยเหตุรับ คดี “ลุงเปี๊ยก” เป็นคดีพิเศษ พบเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย หลังถูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศ สอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ลงนามเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ ยธ. 0853/26 นำส่งไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เรื่อง แจ้งเรื่องการสอบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก

คดี

ในเอกสารระบุเนื้อหา ว่า “ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างการสืบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 (เลขสืบสวนที่ 11/2567)

ในการนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับกรณีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย)

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยกรณีดีเอสไอรับสืบสวนกรณี ลุงเปี๊ยก ว่า พ.ร.บ.อุ้มหาย ตามมาตรา 31 ระบุว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนมีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ

ทั้งนี้ หากรับเป็นคดีพิเศษ ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการสอบสวน รวมทั้งจะเชิญกรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมกัน 4 ฝ่าย

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ดีเอสไอมีพยานหลักฐานพอสมควรที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย และมีการสอบปากคำเบื้องต้น ลุงเปี๊ยก แล้วถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ในวันเกิดเหตุนั้น ในข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอสมควร มีเหตุที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนได้ สำหรับรายละเอียดเชิงลึกขอละเว้นการเปิดเผยไว้ก่อน

แม้ส่วนใหญ่จะมีความเห็นที่ได้จากสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว ทั้งคลิปวิดีโอ เป็นต้น จึงยังเร็วไปที่จะปักธงว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำความผิด เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ท้ายสุดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริง แต่ยังไม่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกระทำความผิดกี่ราย เป็นใครบ้าง เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน โดยตามกฎหมายระบุไว้ว่าให้พนักงานสอบสวนแจ้งไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรับทราบและทำการสอบสวนต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดี หรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา ขึ้นอยู่กับว่าประพฤติผิดในรายมาตราใดของกฎหมายดังกล่าว เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี และต้องรอดูการรวบรวมข้อมูลของทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจด้วย

ทั้งนี้ พฤติการณ์ทางคดีการเสียชีวิตของ นางสาวบัวผัน ตันสุ และของลุงเปี๊ยกถือว่าแยกขาดจากกัน แต่สามารถใช้รายละเอียดในคดีประกอบการพิจารณาได้ หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป และทั้ง 4 หน่วยงานจะนัดหมายประชุมในเรื่องลุงเปี๊ยกให้เร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo