ข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้เสี้ยงหมู นักวิจัยไทยเพาะเชื้อไวรัส ASFV พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็น “วัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย” แก้โรคระบาดในหมู
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่อง **ไวรัส ASFV กับความหวังวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย**
ไวรัส ASFV เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรไทยอย่างมหาศาล หลายฟาร์มที่โดนไปตอนนี้ยังกลับมาดำเนินธุรกิจเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะรับความเสี่ยงเสียหายไม่ไหว ประกอบกับราคาสุกรที่ถูกบิดเบือนด้วยเนื้อสุกรนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เลยกลายเป็นปัญหาระดับชาติกันอยู่ตอนนี้
แก้ปัญหาเดิม สร้างปัญหาใหม่
วัคซีน ASF เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยหยุดปัญหาการระบาดได้ แต่ปัญหาของวัคซีนคือยังไม่มีตัวไหนแก้ปัญหาแบบไม่สร้างปัญหาใหม่ได้ ทั้งนี้หมายถึงการใช้วัคซีน ASF ที่พัฒนามาจากเชื้อที่รุนแรง และ ทำให้เชื้อลดความรุนแรงลง เพื่อกระตุ้นให้สุกรสร้างภูมิคุ้มกันเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีมากในการป้องกันอาการป่วยตายของสุกรได้
แต่ปัญหาใหม่คือ เชื้อในวัคซีนดังกล่าวยังไม่อ่อนฤทธิ์จริงๆ ยังสามารถอยู่ในตัวสุกรได้ และเมื่อสบโอกาสจะสามารถแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับเชื้อในธรรมชาติ จนตัวเองกลับมารุนแรงได้อีก เป็นประเด็นสำคัญที่เกษตรกร และ สัตวแพทย์กังวลมากๆว่า วัคซีนจะเป็นตัวสร้างความเสียหายขึ้นในฟาร์มเสียเอง…ความกังวลดังกล่าวเป็น pain point สำคัญที่ทำให้วัคซีน ASF ตัวใหม่ๆที่พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้ช้า เพราะหลายคนไม่กล้าเสี่ยงลอง
เพาะเชื้อไวรัส ASFV สำเร็จ ต่อยอดวัคซีนแก้โรคระบาดในหมู
BIOTEC โดยทีมวิจัยที่ผมรับผิดชอบ ได้รับโจทย์สำคัญให้พัฒนาวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลสนับสนุนตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด มาต่อยอด โดยการแยกเชื้อ ASFV ที่เก็บมาจากฟาร์มในจังหวัดราชบุรีโดยเครือข่ายจาก จุฬา และ มหากวิทยาลัยเกษตร ผ่าน BCG Ratchaburi model เพื่อให้ได้เชื้อต้นแบบที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยมากที่สุด
ความท้าทายเกิดขึ้นตั้งแต่การเพาะเชื้อไวรัสที่เชื่อว่าเพาะยากมากๆตัวนึงจนทำได้สำเร็จ ตอนนี้ไม่ได้แค่ 1 แต่เราได้จะครบ 10 สายพันธุ์แล้ว ที่พร้อมพัฒนาต่อยอด
สมมติฐานในการทำวัคซีน ASF ของเราคือ เราจะทำให้เชื้อปรับตัวลงในโฮสต์ใหม่ที่ไม่ใช่สุกร ซึ่งถ้าไวรัสปรับลงในโฮสต์ใหม่ได้ดีเท่าไหร่ จะหนีโฮสต์เดิมไปมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ความรุนแรงของไวรัสในโฮสต์เดิมจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงไปมากจนการกลับมารุนแรงเหมือนเดิมอีกครั้งแทบที่เป็นไปไม่ได้
หลักการนี้ทำสำเร็จมาแล้วกับวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้ทรพิษ วัคซีนโปลิโอ หรือ แม้กระทั่งวัคซีนไข้เลือดออกที่ใช้กันอยู่ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้วยกลไกคล้ายๆกัน
ป้องกันอาการป่วยในสุกรหลังติดเชื้อ
เราโชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสทดสอบไวรัสต้นแบบร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ซึ่งผลการทดสอบบอกเราว่า เราน่าจะมาถูกทางแล้ว
ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ไวรัสต้นแบบนอกจากจะไม่ทำให้สุกรมีอาการไข้ แต่ยังกินปกติ โตไวมาก ภูมิคุ้มกันของสุกรที่ได้รับวัคซีนต้นแบบสูงเพียงพอที่จะป้องกันอาการป่วยหลังติดเชื้อ ASFV ที่ทำให้สุกรปกติตายภายใน 12 วัน
ผลการทดสอบเป็นอะไรที่เกิดคาด และเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังของวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย…เรายังต้องไปต่ออีกหลาย pain point แต่จุดเริ่มต้นมักยากกว่าจุดอื่นๆเสมอ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ตรีชฎา’ อัด ‘ก้าวไกล’ อย่าเอาประเด็นหมูเถื่อน ดิสเครดิตนายกฯ
- ‘ดีเอสไอ’ จ่อเอาผิด 4 เจ้าหน้าที่รัฐ จาก 2 หน่วยงาน เอื้อหมูเถื่อน 161 ตู้เข้าไทย
- คืบหน้าหมูเถื่อน 161 ตู้ ‘ดีเอสไอ’ ออกหมายจับเพิ่ม ‘บ.ชิปปิ้ง-นายทุน’ 5 ราย