อย่าประมาท! ติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” ยังพุ่ง สัปดาห์เดียวเพิ่ม 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย เตือนกลุ่มเสี่ยง-ติดเชื้อ HIV ป่วยรุนแรง
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สามารถติดต่อได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสบริเวณตุ่ม หนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2566) พบผู้ติดเชื้อรวม 559 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ชาวไทย 503 ราย ชาวต่างชาติ 52 รายไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 474 ราย และรู้ว่าติดเชื้อ HIV 274 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.18 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี (241 ราย) ตามด้วยอายุ 20-29 ปี (172 ราย)
สัปดาห์เดียวติดเชื้อเพิ่ม 24 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
ในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 24 ราย กรุงเทพ 9 ราย เชียงใหม่ และ นนทบุรีจังหวัดละ 3 ราย ภูเก็ต 2 ราย นครปฐม ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระบุรี อุดรธานีและอุบลราชธานีจังหวัดละ 1 ราย
และสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและขาดยามา 3 ปี ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 3 เซลล์ต่อมิลลิลิตร เริ่มป่วยตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2566 และไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นใบหน้า หลัง มือ บริเวณอวัยวะเพศ และต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2566 ได้รับการส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เนื่องจากมีอาการรุนแรง คือ ผิวหนังตายบริเวณที่จมูก แผ่นหลัง และนิ้วมือ และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง
ในสภาพที่ผู้ป่วยเอชไอวีรายนี้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษวานรไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) แม้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา tecovirimat นาน 28 วัน ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ตรวจพบ แต่ยังมีการตายของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้างขึ้น ต่อมามีภาวะไตวายและระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด
อย่าประมาท งดพฤติกรรมเสี่ยง
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า อาการของโรคฝีดาษวานรที่พบบ่อยได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) โดยเร็ว ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงจะเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขกระจายยาต้านไวรัสดังกล่าวไปไว้ที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่พบการระบาด
ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อโรคฝีดาษวานร และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันเองและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น รวมถึงไม่สัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้มีอาการสงสัยฝีดาษวานร หลีกเลี่ยงปาร์ตี้ที่มีสารมึนเมาและตามด้วยการมีเพศสัมพันธ์ หากมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี
และขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้วิธีการป้องกัน หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ด่วน! สาธารณสุขลำปาง พบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ รายแรก สั่งทุกโรงพยาบาลชุมชน เตรียมรับมือ
- พุ่งไม่หยุด! ‘ฝีดาษลิง’ สัปดาห์เดียวพบ 42 ราย 69% ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย
- หมอยง แจง 6 สาเหตุ ‘ฝีดาษ ลิง’ กำลังแพร่ระบาดและยากจะควบคุม