General

ปี 66 กวาดล้างนายหน้าเถื่อนแล้ว 142 รายเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางานเผย ปี 2566 ดำเนินคดี นายหน้าเถื่อนแล้ว 142 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างทยอยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการแรงงานไปขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ

shutterstock 1068932513

ประกอบกับปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน เจรจาขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำให้คนไทย ทำให้มีผู้สนใจต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก

ทั้งนี้พบว่า ส่งผลต่อจำนวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรูปแบบการหลอกลวงคนไทยของสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนในปัจจุบัน นิยมใช้วิธีการหลอกลวงคนหางานผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ได้แก่ แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชั่นไลน์

สำหรับวิธีการจะโพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพราะสามารถหลอกลวงคนหางานพร้อมกันได้ครั้งละมาก ๆ ไม่จำกัดพื้นที่หรือระยะทาง และไม่จำเป็นต้องพบหน้า

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ตลอดปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ต้องทำงานอย่างเข้มงวด และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นจากเดิมเท่าตัว เพื่อป้องกันมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อ

สุชาติ

นอกจากนี้ ยังเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี และเตือนภัยคนหางานให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพ ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งเดินหน้าปราบปรามผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นายไพโรจน์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ช่วงเดือนตุลาคม 2565 – กรกฎาคม 2566) กรมการจัดหางานดำเนินคดี ตามมาตรา 66 ผู้ที่กระทำการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ข้อหา โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด จำนวน 30 คดี

ทั้งนี้ ตรวจพบการกระทำความผิดของสาย/นายหน้า ทั้งสิ้น 142 ราย มีผู้เสียหายถึง 471 ราย มูลค่าความเสียหายถึง 32,750,330 บาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 ที่พบการกระทำความผิดของสาย/นายหน้า ทั้งสิ้น 152 ราย ผู้เสียหาย 217 ราย มูลค่าความเสียหาย 16,694,256 บาท

ส่วนประเทศที่คนหางานถูกหลอกไปทำงานมากที่สุด คือ สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา และสวีเดนตามลำดับ และจังหวัดที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด คือ ขอนแก่น อุดรธานี นครพนม ชัยภูมิ และปทุมธานีตามลำดับ

LINE ALBUM แรงงานต่างชาติ ๒๒๐๕๑๐ 1

กรมการจัดหางาน ขอย้ำเตือนว่า ผู้ที่อ้างว่าจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทํางานในต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะได้รับโทษ จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 6 หมื่น- 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ผู้โฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่หลอกลวงว่าสามารถ หางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และทำให้สูญเสียเงิน หรือทรัพย์สิน จะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่น- 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo