ตำรวจแฉ 8 ช่องทาง มิจฉาชีพนิยมใช้คู่กับลิงก์ปลอม หวังหลอกดูดเงินเหยื่อ มีอะไรควรระวังบ้าง เช็กเลย
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก เตือนภัย 8 ช่องทาง ที่มิจฉาชีพชอบใช้คู่กับลิงก์ปลอมเพื่อดูดเงิน โดยระบุว่า
ปัจจุบันมิจฉาชีพได้พยายามหาช่องทางส่งลิงก์ปลอม เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือดูดเงินในบัญชี
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอเตือนภัยช่องทางที่มิจฉาชีพมักใช้ ในการส่งลิงก์ปลอม ดังนี้
SMS ปลอม
มิจฉาชีพมักจะส่งลิงก์โดยอ้างว่าคุณเป็นผู้โชคดี ได้รับรางวัล ลงทะเบียนรับสิทธิหรืออื่นๆ โดยจะหลอกให้โหลดแอป หรือ กรอกข้อมูลเพื่อรับสิทธิ
ไลน์ปลอม
มิจฉาชีพจะใช้ Line ปลอม หรือ สร้าง LINE Official Account ปลอม โดย ใช้รูปโปรไฟล์ให้เหมือนกับของจริง และตั้งชื่อให้คล้ายของจริงหรือน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอข้อมูล หรือหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปปลอม เพื่อหลอกดูดเงิน
ลิงก์ใต้คอมเมนต์
ส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะเน้นเป็นลิงก์ข่าว หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม ที่มีรูปย่อ (Thumbnail) เหมือนกับโพสด้านบน หรือเป็นรูปข่าว คลิป ที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อหลอกให้เหยื่อกดลิงก์
แอปพลิเคชันปลอม
มิจฉาชีพมักจะให้ดาวน์โหลดผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บปลอม, เมลปลอม,SMS ปลอม, ลิงก์ปลอม โดยส่วนใหญ่แอปปลอมมักจะไม่มีให้โหลดผ่านแอปสโตร์ และมักจะเลียนแบบแอปจริง ส่วนใหญ่มักเป็นแอปเงินกู้,แอปพนัน หรือเลียนแบบแอปจริง เพื่อดูดข้อมูล
QR Code
เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพชอบใช้ โดยมักจะใช้ให้แสกนเพื่อหลอกให้จ่ายเงิน หรอใช้เป็นช่องทางให้โหลดแอปเถื่อน
อีเมลปลอม
มิจฉาชีพจะปลอมชื่ออีเมลให้คล้ายกับหน่วยงานที่มีอยู่จริงให้มากที่สุด โดยอาจจะเปลี่ยนแค่ตัวอักษรบางตัว จากนั้นจะหลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูล ส่งลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม หรือส่งใบแจ้งหนี้ปลอม เพื่อให้เหยื่อทำรายการชำระเงิน หรือ ติดตั้งแอปปลอม
เว็บไซต์ปลอม
มักจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน หลอกให้กรอกข้อมูล คลิกลิงก์โหลดแอพ หรือโปรแกรม หรือชำระค่าบริการต่าง ๆ
โฆษณาบนเว็บไซต์
ส่วนใหญ่ จะมีการยิง pop-up ขึ้นมา เพื่อโฆษณาประเภทคุณได้รับรางวัล หรือโฆษณาการพนัน เพื่อหลอกให้คนกดลิงก์
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ตำรวจไซเบอร์’ เปิด 10 อันดับ ‘สินทรัพย์’ มิจฉาชีพชอบหลอกลงทุน
- ตำรวจไซเบอร์ เปิดโพย 10 งานเสริมยอดฮิต มิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชน
- รู้ยัง? โดนมิจฉาชีพออนไลน์ฉกเงิน แจ้งความได้ 24 ชม.