General

ส.ส.เพื่อไทย จี้ปมปัญหาแพทย์ลาออก ต้นตอหลัก ก.พ. ไม่ยอมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์

“น.พ.โอชิษฐ์” ว่าที่ส.ส. ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ชี้ปัญหาแพทย์ลาออก เหตุทำงานโหลดเฉลี่ย 32 ชม. แนะ ก.พ.ไฟเขียวสาธารณสุข รับบุคลากรได้เอง 

นายแพทย์โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ว่าที่ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีบุคลาการแพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์แต่ละคน ทั้งที่แพทย์หนึ่งคนต้องมีความพร้อม ทั้งกายและใจรวมทั้งสมอง ต้องพร้อมมากที่สุดในการดูแลผู้ป่วย เพราะต้องตัดสินใจในการรักษาคนไข้

แพทย์ลาออก

แต่ในความเป็นจริงแพทย์ พยาบาล ต้องทำงานโหลดมาก อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยได้ แพทย์แต่ละคนมีความรู้เท่าเทียมกัน แต่การต้องทำงานต่างกันจึงอาจจะส่งผลต่อการรักษาคนไข้ได้

นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์น ที่ทำงานตามโรงพยาบาล ทุกคนต้องการการพักผ่อนที่พอเพียง เพราะปัจจุบันแพทย์หนึ่งคนต้องทำงานต่อเนื่อง 32 ชั่วโมง ต่อคนถือว่าหนักมาก

ทั้งนี้ การทำงานของแพทย์ ต้องทำงานปกติ หากต้องเข้าเวรต้องทำงานต่อเนื่องกว่าจะได้ออกเวรกลับบ้านก็ข้ามวัน แต่ยังต้องมาทำงานประจำต่อเนื่องไปจนถึง 4 โมงเย็นของวันรุ่งขึ้นถือว่าหนักมาก ทั้งที่แพทย์ทุกคนพร้อมที่จะทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ ตามวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา

จากการหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ อยากให้มีการจัดสรรเวลาการทำงานอย่างมีระบบ หรือออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานตามเวลา และมีเวลาพักผ่อน

เพื่อไทย 1

ปกติแพทย์หนึ่งคน ควรทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากมากกว่านี้ก็จะหนักเกินไป ซึ่งพรรคเพื่อไทย พร้อมที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหามาตรการในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับปัญหาคือ หลักคิดของของ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ที่ไม่ยอมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีการนำจำนวนข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น ทั้งที่พันธกิจ หรือการทำงานแตกต่างกัน แต่ ก.พ.ไม่มองที่พันธกิจจึงไม่อนุมัติให้เพิ่มบุคลากร

ดังนั้น จึงอยากให้ ก.พ.เปิดโอกาสให้ กระทรวงสาธารณสุข สามารถรับบุคลากรทางการแพทย์ได้เอง เหมือนหน่วยงานอื่น ก็จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้ ปัญหาแพทย์ทำงานหนักหรือสมองไหลก็จะลดลงอย่างแน่นอน

ปัจจัยสำคัญมาจากหลักคิดของของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ที่ไม่ยอมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo