General

ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งฯ ฟาดกลับ ต้นเหตุ ‘ส่วยสติกเกอร์’ คือ ‘ตำรวจ’ ยันข้อมูล ‘วิโรจน์’ จริงทั้งหมด

ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งฯ ยืนยันข้อมูล “ส่วยสติกเกอร์” ของ “วิโรจน์” เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ฟาดกลับต้นเหตุ คือ “ตำรวจ” ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

วันนี้ (29 พ.ค.) นายศุภศักดิ์ รุ่งเจิดฟ้า ที่ปรึกษา สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เรื่องส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาเปิดเผยนั้น ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด

นายศุภศักดิ์ ระบุว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการจ่ายส่วยรถบรรทุกมีมานานแล้ว แต่สมัยก่อนเป็นการหยุดจอดจ่ายตามตู้รายทาง และก็ไม่ได้บรรทุกหนักเท่าทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน ได้มาใช้ระบบการขายสติกเกอร์ โดยจะมีคนที่เป็นตัวแทนที่สามารถ “เคลียร์” กับเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจได้โดยตรง ไปจ่ายส่วยใต้โต๊ะแบบราคาเหมาต่อเดือน ประมาณ 100,000-200,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง น้ำหนักที่บรรทุก และจำนวนรถ เจ้าหน้าที่ก็จะประเมินว่าจะเรียกรับเท่าไหร่ต่อเดือน

ส่วยสติกเกอร์

เมื่อจ่ายส่วยแล้ว กลุ่มคนที่เป็นตัวแทนดังกล่าว หรือที่เรียกว่า คนกลาง ก็จะไปรวบรวมผู้ประกอบการรถบรรทุก แล้วขายสติกเกอร์ตามที่ปรากฎในภาพให้กับผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่รถบรรทุก ที่ต้องการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ราคาก็จะแตกต่างกันไป มีหลายแบบหลายรุ่น ตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับ ระยะทางใกล้-ไกล น้ำหนักที่บรรทุก โดยรถบรรทุกที่มีสติกเกอร์นี้ จะเรียกกันว่า “รถติดเทอร์โบ” ซึ่งรุ่นที่แพงที่สุด เรียกว่า “ซุปเปอร์เทอร์โบ” ราคาประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน สามารถบรรทุกหนักได้แบบไม่จำกัด

ปัจจุบัน มีกลุ่มคนกลาง ที่ขายสติกเกอร์นี้อยู่จำนวนมาก โดยมีเจ้าใหญ่ประมาณ 10 เจ้า และเจ้าเล็กย่อย ๆ อีกประมาณ 40-50 เจ้า โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำเอง หรือไม่ก็อยู่เบื้องหลัง โดยคนกลางจะได้กำไรจากการขายสติกเกอร์ด้วย

นายศุภศักดิ์ บอกอีกว่า กลุ่มคนกลางนี้ ไม่ได้เคลียร์จ่ายส่วยให้กับแค่ตำรวจเท่านั้น แต่ต้องเคลียร์กับทุกหน่วยงานรายทาง ตามแต่ละเส้นทาง ว่าต้องผ่านจุดตรวจของหน่วยงานใดบ้าง ทั้งตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ด่านช่างน้ำหนัก อบจ. และ อบต. ซึ่งมูลค่าเงินที่ต้องจ่ายในระบบนี้ น่าจะมีกว่าพันล้านบาทต่อเดือน

ส่วยสติกเกอร์

ส่วนรถบรรทุกที่ทำการซื้อสติกเกอร์ดังกล่าว มีประมาณ 200,000 คัน คิดเป็น 20% ของรถบรรทุกทั้งประเทศ ซึ่งก็ถือว่าเยอะมาก เพราะกระทบกันรถที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ทางผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องส่วนเป็นปัญหาปลายเหตุ แต่ปัญหาต้นเหตุคือการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายนั้น นายศุภศักดิ์ ระบุว่า จริง ๆ ต้นเหตุก็คือตำรวจ ที่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ถ้าไม่มัวแต่จะรับผลประโยชน์อย่างเดียว ก็ไม่มีใครจะสามารถทำผิดกฎหมายได้

ที่ผ่านมาเคยเจรจากันมาหลายครั้งแล้ว ร้องเรียนไปครั้งหนึ่งก็จับทีไม่กี่คัน แล้วก็เงียบไป และนอกจากการจ่ายส่วยเพื่อไม่ให้จับรถที่บรรทุกเกินแล้ว ยังมีการจ่ายใต้โต๊ะบนโรงพัก เวลาที่มีการจับกุม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สาวไปถึงผู้ประกอบการด้วย เช่น ทำสัญญาเช่ากันบนโรงพักเลย ให้ผู้ขับขี่เป็นผู้เช่ารถมา ผู้ประกอบการตัวจริงก็ไม้ต้องรับโทษ และสาวไม่ถึงตัว

ส่วยสติกเกอร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo