General

ผู้การฯ ทางหลวง ชี้ ส่วย เป็นแค่ปลายเหตุ แนะแก้กฎหมาย จัดการ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’

ผู้การฯ ทางหลวง ชี้ “ส่วย” แค่ปัญหาปลายเหตุ แนะแก้กฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ ที่เป็นต้นเหตุปัญหาบรรทุกน้ำหนักเกิน ระบุ พร้อมดำเนินการหากพบตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง

วันนี้ (29 พ.ค.) พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ว่า มีสติกเกอร์ติดรถบรรทุก ที่เป็นสัญลักษณ์การจ่ายส่วย ให้ไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย กรณีบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด

ส่วย

พล.ต.ต.เอกราช เปิดเผยว่า ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดกฏหมาย ก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

รวมไปถึง หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการดำเนินการทางกฏหมายแล้ว ก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วยอย่างเคร่งครัด โดยยืนยันว่าจะทำอย่างจริงจัง ถอนรากถอนโคน

ส่วนเรื่องของสติกเกอร์ หรือป้ายต่าง ๆ จากข้อมูลที่มีการประสานกับสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ ก็พบว่า มีภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ได้รวมกลุ่มกันจัดทำสติกเกอร์ หรือป้ายต่าง ๆ แต่ที่ต้องมาตรวจสอบดูก็คือ เรื่องดังกล่าวมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ถ้าหากพบก็ต้องดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแส ก็สามารถส่งเข้ามาให้ตรวจสอบได้ ยืนยันว่ากองบังคับการตำรวจทางหลวงจะทำอย่างเต็มที่

ส่วย

ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาเรื่องส่วย เป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เรื่องส่วย คือปลายเหตุ ปัญหาที่เป็นต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกหนักเกินกำหนด จึงมองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องแก้ในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย โดยในปัจจุบัน กฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการกระทำความผิดซ้ำ

ดังนั้น อาจต้องพิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เช่น หากจับรถบรรทุก 1 คัน พบว่าบรรทุกหนักเกิน 20% ก็ให้สั่งยึดรถของผู้ประกอบการรายดังกล่าวทุกคัน เชื่อว่าคงสามารถยึดรถบรรทุกได้หลายหมื่นคัน ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด และอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัว จนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่น ๆ ด้วย

โดยในวันนี้ได้เรียกผู้กำกับการและสารวัตร ของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ เข้ามาประชุม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงาน และยืนยันว่ากรณีดังกล่าว หากมีเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิด ก็ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง จะมาอ้างว่าอาชีพตำรวจไม่พอกินไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ให้ไปเลือกอาชีพอื่น ไม่ใช่มาใช้อาชีพตำรวจไปหากิน ขอให้ความมั่นใจในฐานะผู้นำของกองบังคับการตำรวจทางหลวงว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo