General

เช็กด่วน!! อาการต่อไปนี้ เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

สถาบันโรคทรวงอก เตือนเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เหนื่อย หายใจไม่ทัน ปวดร้าวกราม จุกบริเวณคอหอย สะบักหลัง แขนซ้าย บางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ให้รีบมาพบแพทย์ เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการอุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอันตรายรุนแรง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

สาเหตุดังกล่าว ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติกระทันหัน และเสียชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ถ้ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน สาเหตุเนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือบริเวณที่มีคราบไขมัน เกิดการปริของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด และก่อตัวเป็นลิ่มเลือด จนเกิดการอุดตัน ส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร

อาการและสัญญานเตือนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

อาการของโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดร้าวไปกราม คอ สะบักหลัง แขนซ้าย เหนื่อยหายใจไม่ทัน บางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอดูอาการที่บ้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้า ทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลวตามมา

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์

การวินิจฉัย แพทย์จะซักประวัติ อาการ และทำตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด หากพบว่ามีอาการเข้าได้กับโรคดังกล่าว หรือมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ST elevation (STEMI) แพทย์จะรีบทำการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางสายสวน

ที่สำคัญ ต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด มีระยะเวลาที่เรียกว่า นาทีทอง (Golden period) ในการเปิดหลอดเลือดอยู่ที่ 120 นาทีหรือประมาณ 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อลดปริมาณการตายของกล้ามเนื้อหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิต

ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้น และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo