COVID-19

‘หมอเฉลิมชัย’ สรุป 5 ข้อเท็จจริง ‘ไวรัส BQ.1’ หลังไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก

“หมอเฉลิมชัย” วิเคราะห์ไวรัส BQ.1 หลังไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก ชี้แม้แพร่เชื้อเร็วขึ้น แต่ยังแพร่เชื้อได้ช้ากว่าสายพันธุ์ย่อย XBB

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง Breaking News!! ล่าสุด ไทยพบไวรัส BQ.1 เป็นรายแรกแล้ว แม้แท้จริงจะเป็นเชื้อเดิม BE.1.1 ซึ่งพบตั้งแต่สิงหาคม 2565 โดยระบุว่า

ไวรัส BQ.1

หลังจากที่มีข่าวว่า ประเทศไทยพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คือ XBB จำนวน 2 ราย

โดย XBB นั้นกลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ย่อยของ โอไมครอน BA.2 และนักวิชาการทั่วโลก ยังคงถอดรหัสพันธุกรรมหรือจีโนมกันอยู่ตลอดเวลา

และพบการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว จึงมีการกลายพันธุ์กันมากมาย
เพียงแต่ต้องติดตามว่า ไวรัสตัวไหนที่แพร่เร็วขึ้น หรือก่อความรุนแรงมากขึ้น

ไวรัส XBB เป็นที่สนใจกันทั่วโลก เพราะมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยแพร่เร็วกว่า BA.5 ซึ่งเคยเร็วที่สุดมาก่อน

ขณะนี้ประเทศไทย ได้มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดคือ BQ.1 ซึ่ง GISAID ได้รายงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมนี้เอง

ทางอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดว่า จริง ๆ แล้ว เราพบผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นชายชาวต่างประเทศอายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน แล้วมารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เมื่อปลายสิงหาคม 2565 มีอาการเล็กน้อยและหายดีแล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

มาตรฐานการสุ่มตัวของไทยจะทำจากหลายกลุ่มด้วยกันได้แก่

1. เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะมาจากประเทศที่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง

2. เป็นคนไทย แต่มีอาการติดเชื้อจากภูมิลำเนาแถวชายแดน

3. ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน แต่ยังมีอาการค่อนข้างมาก

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น จะทำการสุ่มตรวจจีโนมทันที กว่าสัปดาห์ละ 300 ราย ว่ายังคงเป็นไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักหรือไม่

ในรายดังกล่าวพบว่าเป็น BE.1.1 ซึ่งก็ได้รายงานไปที่หน่วยงานรับผิดชอบระดับโลก : GISAID แล้ว

หลังจากที่มีข้อมูลที่หลากหลายมาก ขึ้นทั่วโลก จึงได้มีการปรับจาก BE.1.1 เป็น BQ.1 ซึ่งก็คือตัวเดิมที่เราเจอเมื่อปลายเดือนสิงหาคมนั่นเอง แต่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนชื่อเมื่อ 18 ตุลาคม 2565

จากการจัดลำดับของความสามารถในการแพร่เชื้อ BQ.1 ยังแพร่ได้ช้ากว่า XBB โดยเรียงจากไวรัสสายพันธุ์

  • XBB
  • BQ.1.1
  • BN.1
  • BQ.1

shutterstock 2082101371 1

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 300 ราย จึงสามารถทำให้ตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ และได้ส่งข้อมูลไปยังศูนย์กลางเป็นประจำ

 

กล่าวโดยสรุป

1. ไวรัสสายพันธุ์ย่อย BQ.1 ซึ่ง GSAID รายงานเมื่อวาน (18 ต.ค. 2565) เป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดหนึ่งภายใต้สายพันธุ์หลักคือ โอไมครอน

2. BQ.1 คือไวรัสสายพันธุ์ย่อย BE.1.1 นั่นเอง แต่มีการปรับปรุงชนิดของสายพันธุ์ใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

3. BQ.1 มีความสามารถในการแพร่เชื้อช้าหรือน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์ XBB

4. ไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อขณะนี้ ทั้ง BQ.1 , BQ.1.1 , BN.1 BA.4 , BA.5 ล้วนแต่เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อย ที่อยู่ในสายพันธุ์หลัก โอไมครอนทั้งสิ้น

5. BQ.1 แม้จะแพร่เชื้อเร็วขึ้น แต่ยังสู้ไวรัส XBB ไม่ได้ จึงยังไม่ต้องห่วงกังวลมากนัก เพียงแต่ต้องคอยติดตามข้อมูลการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ต่อไป เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับโรคโควิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต ไม่ว่าโรคจะเบาลงหรือหนักขึ้นก็ตาม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo