กรมควบคุมโรค เปิดผลศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนเข็มกระตุ้น ย้ำกลุ่มเสี่ยง-ประชาชน ผ่านไป 3-4 เดือนควรฉีดเพิ่ม เสริมภูมิสู้โควิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิต เริ่มมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากผลการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19
ทั้งนี้ จากข้อมูลวันที่ 5 กันยายน 2565 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 142,891,943 โดส มีประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 53,744,479 ราย คิดเป็น 77.3 % และฉีดเข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 31,876,008 ราย คิดเป็น 45.8%
นพ.โอภาส ย้ำว่า ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ เข้าถึงการฉีดได้ง่าย จึงอยากเชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ให้มาฉีดเข็มกระตุ้น
ทั้งนี้เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ การฉีดเข็มกระตุ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้
ดังนั้น หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีด เข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
ขณะที่ คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้ติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 จากการใช้จริงในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง
ผลของการใช้จริงช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ที่เป็นการระบาดของโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ ,
นอกจากนี้ ยังป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ
สำหรับกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มได้ 80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มทั้งสองกลุ่มอายุ
การฉีดวัคซีนกระตุ้น 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่จะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต การดำเนินงานควบคุมโรคต้องดำเนินการอย่างสมดุล ทั้งมาตรการวัคซีน มาตรการสังคม และมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ได้เวลานับถอยหลัง โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ‘ดร.สันต์’ ชี้ 4 ประเด็นที่ยังต้องลุ้น
- โควิดวันนี้ 6 ก.ย. ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,062 ราย ปอดอักเสบ 694 ราย เสียชีวิต 22 ราย
- โควิดวันนี้ 6 ก.ย. ทั่วโลกติดเชื้อ 610.80 ล้านคน ‘กุ้ยหยาง’ โดนสั่งล็อกดาวน์เกือบทั้งเมือง