COVID-19

‘อนุทิน’ สั่งสอบ รพ.เอกชน ขายแพคเกจรักษาโควิด-19 ห้ามจ่ายยาเกินความจำเป็น ผิด 2 เด้ง

“อนุทิน” สั่งการ สบส. ตรวจสอบ รพ.เอกชน ขายแพคเกจรักษาโควิด-19 ย้ำขายแพคเกจได้ แต่ต้องรักษาตามข้อบ่งชี้การแพทย์ หากไม่ใช่เข้าข่ายผิด 2 เด้ง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งออกแพคเกจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ได้มอบหมายให้ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ทำได้หรือไม่ หรือกรอบไหนทำไม่ได้ ก็จะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน

แพคเกจรักษาโควิด-19

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งออกแพคเกจรักษาโควิด-19 โดยให้ผู้ป่วยเลือกว่า จะเลือกแพคเกจใด อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท ยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดส บวกกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท และรพ.เอกชน บางแห่งเสนอยาโมลนูพิราเวียร์อีกประมาณ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ และ ยาโมลนูพิราเวียร์ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้ รพ.รัฐ และเอกชน เพื่อรักษาตามสิทธิ์การรักษา

อย่างไรก็ตาม การที่รพ.เอกชน จัดทำแพคเกจ อาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือก  หากพิสูจน์ได้ว่า อำนวยความสะดวกได้จริง และไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ ประชาชนก็ได้ความสะดวกสบาย

แต่หากมีกรณีไหนที่เข้าข่ายทำผิด หรือยังไม่ชัดเจน ให้สอบถามมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อตรวจสอบ แต่ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เขาบอกมา ที่ผ่านมายังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน ถ้ามีส่งมาเลย ทุกวันนี้ก็ยังปิดรพ.เอกชนไม่ได้สักแห่ง

อนุทิน
อนุทิน ชาญวีรกูล

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หากเป็นคนไข้โควิดไปรักษาในรพ.ตามสิทธิ์ เป็นไปตามระบบนั้น โรงพยาบาลที่รักษาตามสิทธิ์นั้นๆ ย่อมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล

กรณีเลือกรักษาที่ รพ.เอกชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการอำนวยความสะดวกสบาย และมีกำลังจ่าย เพียงแต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์

ประเด็นสำคัญคือ การออกแพคเกจ ต้องอิงอาการคนไข้เป็นหลัก และต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล

เมื่อมีข้อคิดเห็นกรณีนี้เข้ามา เราจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีการหารือร่วมกับเอกชนอีกครั้ง โดยหากใครเจอเรื่องลักษณะนี้หรือสงสัยว่า รพ.เอกชนทำได้หรือไม่ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ การออกแพคเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพรบ.สถานพยาบาลฯ และหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo