ศูนย์จีโนมฯ ลั่น ยาต้านไวรัส ตัวเปลี่ยนเกมโควิด-19 เมื่อกลายเป็นโรคประจำถิ่น ชี้ป้ญหาราคาแพง
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่องไวรัสโควิดกลายพันธุ์ วัคซีนลดประสิทธิภาพการป้องกัน ทำให้ ยาต้านไวรัส’ ตัวเปลี่ยนเกมโควิด โดยระบุว่า
ไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง วัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันได้ลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง
การพึ่งพาเฉพาะวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียวพอเพียงหรือไม่?
เราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อมีการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น?
คำตอบคือ ยาต้านไวรัส จะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกม(Game changer) ไม่ได้เข้ามาแทนที่ในการป้องกันเช่นเดียวกับวัคซีน แต่เป็นตัวเติมเต็มให้กับวัคซีนในด้านการรักษา
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ได้แถลงการประเมินประสิทธิผลวัคซีน จากการใช้จริงต่อไวรัสโคโรนา 2019 จากกลุ่มอาสาสมัคร จ. เชียงใหม่ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม.ค.2565
1. การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่อาจป้องกันการติดโอไมครอนได้ แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 85%
2. หากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) ในระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ 34-68 % และเพิ่มการป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 98-99%
3. หากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 เมื่อครบกำหนดการเข้ารับวัคซีน พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 80-82% โดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4“
4. ผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในระดับโลก ทำให้ องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต การเกิดลองโควิด และการเกิดไวรัสกลายพันธุ์จากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนด้วยเช่นกัน
ไวรัสหัด (measles)” มีการกลายพันธุ์น้อย ปัจจุบันยังมีเพียงสายพันธุ์เดียว วัคซีนจึงป้องกันได้ โดยไวรัสหัดใกล้จะถูกกำจัด (eradication) หมดสิ้นไปจากโลก เช่นเดียวกับไวรัสไข้ทรพิษ
ไวรัสเอชไอวี มีการกลายพันธุ์สูงกว่าไวรัสโคโรนา 2019 จนปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้ป้องกันได้ แต่ก็สามารถถูกจำกัดให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ด้วยยาต้านไวรัส
ดังนั้น ไวรัสโคโรนา 2019 แม้การกลายพันธุ์จะไม่รวดเร็วเท่ากับไวรัสเอชไอวี แต่ก็มีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง จึงมีความจำเป็นต้องนำยาต้านไวรัสมาช่วยเติมเต็มในด้านการรักษา โดยเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องรีบรับประทานยาต้านทันที ถึงจะได้ผลสูงสุด
การใช้ยาต้านไวรัสหากใช้ไม่ครบคอร์ส ปัญหาที่อาจตามมาคือเกิดเชื้อดื้อยาได้ ทางศูนย์จีโนมได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์บริเวณยีนที่เกี่ยวข้องกับยาต้านไวรัส
ยาต้านไวรัสโคโรนา 2019
เนื่องจากวัคซีนไม่อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นปราการด่านที่ 2 จะเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาโรคโควิด-19
สำหรับประเทศไทย
ผู้ที่ไม่มีอาการ หรือยังสบายดี แพทย์มักจะแนะนำให้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน (home isolation) ดูแลรักษาตามอาการยังไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการส่วนใหญ่หายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยแต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) โดยจะเริ่มให้ยาโดยเร็วไม่เกิน 5 วันหลังเริ่มมีอาการจะช่วยให้มีอาการดีขึ้นถึง 79% ไม่ควรใช้รักษาช้าหรือกับกลุ่มคนไข้อาการค่อนข้างหนักเพราะพบว่าประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก
อย่างไรก็ดีหากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และเป็นการติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เอง แต่สำหรับกลุ่มเปราะบาง (608) แม้ไม่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสและเริ่มให้เร็วที่สุดจะได้ผลดีที่สุด
โดยสรุปจากการทำวิจัยในประเทศไทยพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก แต่ในกลุ่มที่ไม่มีอาการอาจจะช่วยลดระยะเวลาการมีอาการ โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาเร็ว
ส่วนคนไข้ในกลุ่มสีเหลือง (มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง) และสีแดง (มีอาการปอดอักเสบรุนแรง) จะมียาต้านไวรัส อาทิ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir), แพกซ์โลวิด (Paxlovid : Nirmatrelvir/ritonavir), ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ฯลฯ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา
ในประเทศไทย โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 สูญพันธุ์แล้ว (ตรวจไม่พบ) ส่วน BA.2 ระบาดมาถึงพีคสูงสุดแล้ว ผู้ติดเชื้อ BA.2 รายใหม่เริ่มลดจำนวนลง แต่ต้องระวังสายพันธุ์ที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทนที่คือ BA.2.12
หากสายพันธุ์ย่อยนี้มีโอกาสกลายพันธุ์ระหว่างคนสู่คนเป็นวงกว้างอาจกลายเป็น BA.2.12.1 ซึ่งในประเทศอเมริกามีการแพร่ระบาดของสายพันื BA.2.12.1 อย่างรวดเร็ว และเข้ามาแทนที่ BA.2
สำหรับกลุ่ม 608” หรือกลุ่มเสี่ยง เมื่อติดเชื้อโอไมครอนอาจมีอาการหนักได้ จึงต้องรีบให้ยาต้านไวรัสในทันทีเหมือนการรับประทานยาต้านไวรัส Tamiflu เมื่อติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ปัญหาเดียวสำหรับยาเม็ด (รับประทาน) ต้านไวรัสที่เพิ่งออกจำหน่ายคือจะมีราคาแพง เช่นในกรณีของโมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ราคาต่อคอร์ส ประมาณ 10,000 บาท
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ยาต้านไวรัส ‘แพกซ์โลวิด’ ใครมีสิทธิได้ ต่างจาก ‘โมลนูพิราเวียร์’ อย่างไร
- ศูนย์จีโนมฯ รามา เฝ้าระวัง สายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ย้ำ วัคซีนเข็มกระตุ้น สำคัญ
- กทม. เตรียมกระจาย ‘ยาแพกซ์โลวิด’ ไปตาม รพ. ในสังกัด รับมือ กลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ